“พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ” ผกก.ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นอีกนายตำรวจที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
“พ.ต.อ.ชัยวัฒน์” ได้กล่าวว่า เมื่อตอนเรียนประถม 4 สนใจงานด้านศิลปะ ตัดสินใจนำภาพพระองค์ท่านมาวาดส่งครู ประกอบกับได้รับการปลูกฝังจากญาติผู้ใหญ่ที่รับราชการถวายงานใกล้ชิดพระองค์ ทำให้ซึมซับเป็นแรงบันดาลใจทำงานศิลปะมาถึงปัจจุบัน
เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ตั้งใจวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ผ่านโปรแกรมโฟโตช็อปถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อในหลวงภูมิพลเป็น ภาพพระพักตร์ทรงงานหนัก จนมี เหงื่อหยด เผยแพร่ใน “เฟซบุ๊กส่วนตัว”
เพื่อต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกเตือนสติการทำงานของตัวเอง “พระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ทรงตรากตรำทำงานเพื่อพสกนิกรทั้งประเทศ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี สมควรที่เราจะเดินตามรอยพระราชปณิธาน” พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ว่า
เป็นเหตุผลหลักที่เขามุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมมาตลอดรับราชการ นำเอาวิชาความรู้ ความสามารถด้านศิลปะการสเกตช์ภาพคนร้ายไปถ่ายทอดแก่นักเรียน ครู และผู้ปกครองหลายแห่ง ตามโครงการ “สเกตช์ภาพ เตือนภัย ให้สังเกต จดจำ”
แม้กระทั่งเดินทางไปร่วมประชุมเกี่ยวกับอาชญากรรมในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือน ต.ค.2559 พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ ยังมีโอกาสนำโครงการดังกล่าวไปจัดกิจกรรม สอนเยาวชนไทย ที่วัดธัมมาราม เพราะปัญหาอาชญากรรมที่สหรัฐอเมริกาไม่ยิ่งหย่อนกว่าประเทศไทย
จำเป็นต้องให้ความรู้เรื่องหลักการสังเกต จดจำพฤติกรรมผู้ต้องสงสัย ป้องกันระวังภัยไว้ล่วงหน้า และเพื่อนำไปสู่การสเกตช์ภาพในอนาคตหากมีเหตุเกิดขึ้น รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการ Age Progression สเกตช์ภาพเพิ่มอายุของเด็กหาย ใช้วิวัฒนาการผสมผสานทักษะทางศิลปะเข้ามาช่วยติดตาม ล้วนเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ มีแรงบันดาลใจมาจากหยาดเหงื่อของในหลวงรัชกาลที่9
จากนี้ผมยังจัดโครงการบรรยายความรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนกลุ่มเสี่ยงในเรื่องของการเตือนและระวังภัย ให้ความรู้ในการสังเกตจดจำ และทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว เพื่อช่วยป้องกันและลดช่องโอกาสคนร้ายที่คิดจะกระทำความผิด หรือหากกระทำความผิดประชาชนจะสามารถให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซึ่งมีผลโดยตรงกับงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย
ผมมักใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานด้วยใจรักด้านศิลปะและความประทับใจที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความเป็นธรรมชาติกับศิลปะงานเขียนภาพ ในสมัยตอนที่เรียนหนังสือผมชอบสไตล์ Impressionism (อิมเพรสชันนิซึม) เป็นความประทับใจในแง่มุมที่ธรรมดา หรือเรื่องราวธรรมดา แต่มีมุมมองพิเศษ ซึ่งเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมีความสวยงามอยู่ในตัวเอง ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม และชอบจะเก็บเรื่องราวของความประทับใจต่างๆ นั้น เป็นภาพถ่าย จะรู้สึกเสียดายที่บางครั้งความประทับใจเหล่านั้นเป็นแค่ความทรงจำ จึงให้ความสำคัญในการบันทึกภาพอย่างมาก เพราะชีวิตจริงไม่สามารถย้อนเวลาได้ สิ่งที่ผ่านไปคืออดีตและประวัติศาสตร์ มีคำๆ หนึ่งที่ชอบมาก คือ “ ข้างหลังภาพ” ความทรงจำก็คือ “ ข้างหลังภาพ” และชอบสะสมวิทยุสมัยเก่า-ตู้โขว์ลายฉลุรูปแบบโบราณสวยๆ ความประทับใจเหล่านี้ จึงทำให้เกิดความชอบในเรื่องราวต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ธรรมชาติ ภูเขา สายน้ำ วันสบายๆ จึงมักจะใช้ชีวิตกับธรรมชาติ วิถีชีวิตธรรมดาแบบชาวบ้าน เพราะสิ่งเหล่านี้มีคุณค่า มีเรื่องราวที่น่าประทับใจและน่าที่จะศึกษา
“สิ่งทึ่ผมปราบปลื้มที่สุดอย่างหนึ่งก็คือนามสกุล “บูรณะ” ซึ่งได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 จากการถวายงานของบรรพบุรุษอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการทำคุณงามความดีถวายพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดนั้นเอง”