นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ในทัศนะของแรงงานไทย จากจำนวน 1,212 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 15,000 บาท และมีรายจ่ายในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งร้อยละ 95.9 มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ ร้อยละ 60.62 ที่เป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงต้องมีการผ่อนชำระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ 9,657 บาท เพราะส่วนใหญ่ร้อยละ 42.5 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ทำให้ต้องกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แรงงานส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เป็นวันละ 357 บาท และควรปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพและกลไกตลาดที่แท้จริง เนื่องจากการใช้จ่ายมากขึ้นในทุกกิจกรรมโดยเฉพาะช่วงวันหยุดแรงงาน ขณะเดียวกันแรงงานยังมีความกังวลเป็นอย่างมากที่จะตกงาน เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ หรือปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจสถานภาพของภาคธุรกิจต่อแรงงาน จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่าธุรกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร และอาจต่ำสุดในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากสภาพธุรกิจ ยังไม่ฟื้นตัว เพราะจะมีผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น และยิ่งซ้ำเติมยอดขายให้ลดลงไปอีก แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง มองว่าควรจะปรับไม่เกิน 310 บาทต่อวัน