คณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 17 เม.ย.2559 เวลา 11.00 น. เครือข่ายนักวิชาการเพืี่อสิทธิพลเมือง ที่เป็นการร่วมตัวของคณาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน อาทิ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ม.ธรรมศาสตร์ , ม.เกษตรศาสตร์ , ม.มหิดล , ม.รังสิต ร่วมกันแถลงข่าวชี้ ข้อบกพร่อง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมออกแถลงการณ์ เรื่องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน
โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหาระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอร่วมแสดงความเห็นพ้องกับกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคสช. ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.รัฐธรรมนูญ เป็น “สัญญาประชาคม” ที่ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันตกลงและสร้างขึ้น เพื่อเป็นกติกาแม่แบบในการดำเนินชีวิตทางการเมืองและสังคมเพื่อความไพบูลย์ร่วมกัน แต่ร่าง รธน.ฉบับนี้ ของ คสช.ขาดหลักการและความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ กลับเป็นเพียงกฎหมายเพื่อประโน์บางกลุ่มบางฝ่ายเท่านั้น
2.ร่าง รธน.ฉบับนี้ ขัดกับหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน และจงใจสร้างความอ่อนแอแก่ระบบ รัฐสภา อาทิ นายกรัฐมนตรี สามารถมาจากบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง , ส.ว.ที่มาจากการแต่งตัั้ง โดย คสช. อำนาจอันกว้างขวางของ ส.ว. , การกำหนดจำนวนสมาชิก ส.ว.แก่ผู้นำทหาร , ระบบการคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่สอดคล้องกับสถานะตัวแทนของราษฎร และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ แทนที่ คสช.จะสิ้นสุดลงตามที่มีสัญญาวาจาไว้กลับยังคงอำนาจต่อไปอีก อย่างน้อย 1 ปี หลังการลงประชามติต่อร่างรธน.
3.ร่าง รธน.ฉบับนี้ทำลายหลักนิติธรรมที่ยึดถือ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ” อันเป็นแก่นแท้ของการปกครองในระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมอบอำนาจทางการเมือง การปกครองอย่างสูงแก่องค์กรตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และองค์กรบริหาร (รัฐบาล) แต่กลับไม่มีกลไกที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรนั้นๆ ทั้งที่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้มีส่วนในการบั่นทอน ตั้งแต่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเบื้องต้นไปจนถึงสนับสนุนการทำลายหลักการประชาธิปไตย
4.ร่าง รธน.ฉบับนี้ เอื้อให้รัฐ ละเมิดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายในนามของความมั่นคง และทำให้การตีความขอบเขตอำนาจของความมั่นคงอยู่ในมือกองทัพและกลุ่มที่อยู่นอกองค์กรการบริหารของรัฐ ทั้งนี้ในสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งให้อำนาจแก่รัฐเท่านั้น แต่ยังต้องมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีอำนาจจนเกินขอบเขต นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
5.ร่าง รธน.ฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขเนื้อหาในระดับที่ยากยิ่ง หรือไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้เลย
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จึงเห็นว่าหากร่าง รธน.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนนับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรงยิ่งขึ้น
“ร่าง รธน.ฉบับนี้ยังจะไม่สามารถเป็นทั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม และฐานของการพัฒนาบ้านเมืองอีกด้วย หากในที่สุด ร่าง รธน.ฉบับนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คสช.พึงคืนอำนาจด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้รัฐบาลและรัฐสภาหลังการเลือกตั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปที่คำนึงถึงหลักการเสรีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และการพัฒนาสังคม การเมืองเพืี่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป” ด้วยความเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง 17 เม.ย.59