อย. เฝ้าระวัง และตรวจสอบไส้กรอกอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว ผู้บริโภคมั่นใจได้

0
706

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มูลนิธิผู้บริโภคออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 15 รายการ พบว่ามีการใช้ไนเตรท ไนไตรท์ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 3 รายการ นั้น อย. ขอแจ้งว่าไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในการผลิตเพื่อการเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติอาหารและเพิ่มสีสัน โดยเป็นสารวัตถุกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสทริเดียม โบทูลินั่ม ซึ่งเจริญได้ดีในสภาวะที่ไม่มีอากาศ หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท หรือเป็นสารตรึงสีทำให้เนื้อมีสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน การใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นวัตถุกันเสียและตรึงสี ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบว่า มีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งให้งดผลิตหรืองดนำเข้าจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะมีการประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบต่อไป

สำหรับสุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และการแสดงฉลากเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. วัน เดือน ปีที่ผลิต วันหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน สูตรส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ ปริมาณสุทธิ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ข้อมูลรายชื่อและกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบว่า มีการแสดงข้อความบนฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย. มีแผนเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นประจำทุกปี โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสีย (ได้แก่ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิก) ไนเตรท ไนไตรท์ และชนิดและปริมาณสีสังเคราะห์ โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จำนวน 200 ตัวอย่าง ขณะนี้ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 26 ตัวอย่าง ไม่พบวัตถุกันเสีย แต่พบผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ไนไตรท์และไนเตรท ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสถานที่ผลิตและสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่ผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ กรณีผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการ อย.ร่วมกับสำนักสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

รองเลขาธิการฯ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอฝากไว้สำหรับผู้บริโภค ควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือ หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.