นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 1 พฤษภาคม พบว่าผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินไข่คางคก 4 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงไอยากเตือนให้ระวังโรคอาหารเป็นพิษ จากการกินคางคกหรือไข่คางคก เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมความเชื่อ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการกินอาหารของประชาชนในบางท้องถิ่น จึงคาดว่าอาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยสารพิษที่พบในคางคก คือ บูฟากิน บูโฟท็อกซิน และบูโฟเทนนิน สามารถพบในผิวหนัง เลือด เครื่องในและไข่ ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ ซึ่งความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ จึงขอเตือนให้ประชาชนห้ามนำคางคก หรือไข่คางคกมาบริโภคเด็ดขาด ทั้งนี้ หากประชาชนเกิดพิษจากการกินคางคก หรือไข่คางคก ควรรีบทำให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีเหตุการณ์ผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินคางคกหลายเหตุการณ์ คือที่ จ.สุโขทัย พบผู้ป่วย 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.เลย อุบลราชธานี และกาฬสินธุ์พบว่ามีผู้เสียชีวิตจังหวัดละ 1 ราย