นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือกรณี กสทช. เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พิจารณาใช้ม.44 เพื่อให้เอไอเอส จ่ายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ต มูลค่ากว่า 75,654 ล้านบาท แทนบริษัท แจส โมบาย ที่ไม่สามารถจ่ายได้ โดยภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น นายวิษณุ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า กสทช.เสนอทางเลือกต่อที่ประชุม 3 แนวทางเพื่อพิจารณา คือ 1.ใช้วิธีเปิดประมูลตามปกติที่เคยคิดไว้ 2.ให้คลื่น 900 แก่เอไอเอสหรือบริษัทที่ใช้ชื่อใหม่ซึ่งเสนอชื่อเข้ามาว่า จะให้ราคาตามที่แจสโมบายเคยชนะการประมูลไว้แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ โดยไม่ผ่านการประมูล และ 3.ใช้วิธีประมูลแต่ทำให้ขั้นตอนระยะเวลาต่างๆ รวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ในที่ประชุมพิจารณาข้อดีและข้อเสียทุกอย่าง จนเห็นชอบว่า วิธีที่ 2 ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ เพราะจะเป็นการตัดโอกาสผู้อื่นที่สนใจจะประมูล ดังนั้นที่ประชุมเห็นว่า ควรใช้วิธีที่ 3 คือเปิดประมูลตามปกติ เปิดโอกาสให้ผู้เคยเข้าประมูลหรือผู้ที่ไม่ได้เข้าประมูลในครั้งที่ผ่านมาได้ร่วมประมูลในครั้งใหม่ได้ทั้งหมด รวมถึงบริษัท ทรู แต่ยกเว้นบริษัทแจส โมบาย โดยใช้ราคา 75,654 ล้านบาท ตามที่บริษัท แจส โมบาย เคยประมูลได้มาเป็นฐานในการเริ่มต้นและจัดให้มีการประมูล ซึ่งจะสามารถประมูลได้เร็วที่สุดคือช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ โดยให้กสทช.ไปพิจารณาว่า มีวิธีการและกฎหมายใดของกสทช.ที่จะทำให้ประมูลได้อย่างรวดเร็ว ย่นระยะเวลาเรื่องใดได้บ้าง เพราะปกติจะมีถึง 7 ขั้นตอนในการประมูล หากใช้วิธีที่ 3 จะเร็วกว่าวิธีแรก 45-60 วันในการเคาะราคา อย่างไรก็ตาม หาก กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายปกติของกสทช.ไม่สามารถทำได้ ค่อยเสนอให้คสช.ใช้อำนาจตาม ม. 44 แก้ปัญหา
นอกจากนั้น ขอให้ประชาชนและผู้บริโภคมั่นใจว่าการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองที่คุ้มครองลูกค้าของเอไอเอสที่ใช้คลื่น900 ถึงวันที่ 14 เม.ย.นี้ ซึ่งทราบว่าทางบริษัทยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวใหม่ต่อจากวันที่ 14 เม.ย. เป็นต้นไป แต่ยังไม่ทราบว่าศาลจะให้การคุ้มครองหรือไม่ แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าศาลจะให้ความคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ รัฐบาลและคสช.ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีกรณีซิมดับเกิดขึ้น หากศาลไม่คุ้มครองรัฐบาลและคสช.จะหามาตรการช่วยเหลือคุ้มครองเยียวยาแก่ผู้บริโภคซึ่งมีประมาณ 4 วิธีที่จะสามารถใช้โทรศัพท์ต่อไป โดยไม่เกิดปัญหาซิมดับในประเทศ แต่ยังไม่ขอบอกว่าจะใช้วิธีใด
“ขั้นตอนต่อไปจะให้กสทช.ไปคิดว่า จะใช้มาตรการปกติหรือมาตรการพิเศษ ทั้งหมดทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และให้โอกาสแก่ทุกฝ่าย และคุ้มครองประชาชนของผู้บริโภค ซึ่งได้นำเรียนเรื่องดังกล่าวให้นายกฯ ทราบแล้ว และนายกฯย้ำว่าอย่าให้เกิดปัญหาซิมดับ และการประมูลอย่าให้ต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้ ส่วนที่กังวลว่าหาก บ.ทรูเข้าร่วมจะเกิดการผูกขาดเพียงเจ้าเดียวนั้น ขณะนี้ปัญหายังไม่เกิด แต่รัฐบาลคิดแนวทางไว้แล้ว ส่วนที่ไม่ให้เอไอเอส รับซื้อต่อตามข้อเสนอนั้น เพราะไม่อยากให้เกิดข้อครหา”