ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว. สาธารณสุข กล่าวว่า แนวโน้มโรคไข้มาลาเรียตั้งแต่ปี 2543 ลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 75 ใน 55 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรีย ผู้ป่วยลดลงจาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 24,850 รายในปี 2558 ลดลงประมาณร้อยละ 85 ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดน ซึ่งมีปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษา องค์การสหประชาชาติและ
ประเทศไทยตั้งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ และติดตามความก้าวหน้า ประกอบกับโครงการมาลาเรียโลก มีเป้าหมายกำจัดโรคไข้มาลาเรียและผลักดันประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันคน ซึ่งไทยมีอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันคน ให้ยกระดับจากควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2569 ให้ไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี พ.ศ.2567 มี 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย 2.พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรการและรูปแบบที่เหมาะสมในการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย 3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย และ 4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย แผนปฏิบัติการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ใช้งบประมาณ 2,283 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณการควบคุมโรคไข้มาลาเรียที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2560 รัฐบาลจึงต้องบูรณาการงาน ทรัพยากรร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หน่วยบริการเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม กำจัดโรคไข้มาลาเรียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มุ่งให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปลอดภัย ปลอดโรคมาลาเรีย