ร่างกฎหมายโรงงานใหม่ มีโรงงานขนาด 50-75 แรงม้า จำนวน 7,455 ราย ขนาดกำลัง 76-100 แรงม้า จำนวน 71,189 ราย โรงงานขนาดเครื่องจักร 100 แรงม้าขึ้นไป จำนวน 48,621 ราย รวมทั้งหมด กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำกับดูแล 63,265 ราย จากเดิมกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องกำกับดูแล 139,334 ราย จึงต้องโอนโรงงานไปให้ อปท.ดูแล ซึ่งมีขนาดเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า จำนวน 59,000 ราย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย และลดภาระการดูแลของกรมโรงงานฯ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ปรับค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตจากเดิม 100,000 บาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท เพื่อต้องการให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญดูแลกิจการตามข้อกำหนด และเมื่อต้องการต่อใบอนุญาต เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมแล้วไม่ต้องทำการตรวจสอบ แต่ดำเนินการตามข้อกำหนด
รวมทั้งเพิ่มโทษสำหรับโรงงานผู้กระทำผิดปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลวภาวะ จากเดิมมีความผิดทางแพ่งอายุความ 1 ปี ปรับ 200,000 บาท เพิ่มโทษเป็นมีความผิดทางอาญา ซึ่งต้องพิจาณาโทษหนักหลายชั้นศาล โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และแก้ไขการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาให้โรงงานผลิต วิจัย ของสถาบันของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือกิจการขนาดเล็กไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน จากการแก้ไขกฎหมายหลายด้านทำให้การขอใบอนุญาตใบ รง.4 รวดเร็วขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลานับปีกว่าจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม
และพร้อมกันนี้ ครม. ยังอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้งนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม