สถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) วิจัย “โครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ” โดยได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สปอ.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) งบวิจัยกว่า 7.35 ล้านบาท เผยประเทศไทยในรอบ 40 ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นราว ๆ 0.4-2.6 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นในบางพื้นที่ ส่วนบางพื้นที่จะมีความแห้งแล้งเกิดขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเล็กน้อยราวๆ 32-42 เซนติเมตร ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องรับรู้ข่าวสารข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผศ. ดร.กัมปนาท ปิยะธำรงชัย รศ. พัฒนา ราชวงศ์ อาจารย์สมบัติ เหสกุล พร้อมคณะผู้วิจัย สถานที่ปรึกษาและพัฒนาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ คณะเกษตรศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยว่า สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศระยะยาว 37 ปี โดยแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศจะครอบคลุมใน 6 ด้าน คือ การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ โดยคณะผู้วิจัยได้จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ” โดยในเฟสแรกจะเน้นไปที่การประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามสภาพของผลกระทบ พื้นที่เสี่ยง และพื้นที่เปราะบางในแต่ละด้านในเฟสต่อไป ซึ่งการจำลองสภาพภูมิอากาศ พบว่าจะเกิดความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน รูปแบบของฝน รูปแบบของลักษณะอากาศ การละลายของน้ำแข็ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทั้งหลายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรน้ำ สุขภาพมนุษย์ การเกษตรและอาหาร เมืองและพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งนี้ในประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกัน แล้วก็พบแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
การจำลองภาพดังกล่าวของคณะผู้วิจัยโดยโปรแกรมสำเร็จรูป SimCLIM พบว่า ในช่วง 40 ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยจะสูงขึ้นราวๆ 0.4-2.6 เซลเซียส ปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นในบางพื้นที่ ส่วนบางพื้นที่จะมีความแห้งแล้งเกิดขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเล็กน้อยราวๆ 32-42 เซนติเมตร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องรับรู้ข่าวสารข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจ เพื่อจะได้นำเข้ามาเป็นประเด็นเชิงนโยบายทั้งการศึกษาวิจัย การกำหนดมาตรการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนั้นมีการนำเสนอผลการวิเคราะห์และแนวทางปรับตัวต่อที่ประชุมในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยถึง 3 ช่วง ทั้งในกรุงเทพมหานคร หาดใหญ่ ขอนแก่น ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และพิษณุโลก รวม 17 ครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมมีคำถามและข้อเสนอแนะที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อการจำลองภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่สำคัญจากที่ประชุมส่วนหนึ่งได้สอบถามว่า “ตกลงประเทศไทยมีความเปราะบางที่สำคัญในด้านใดบ้าง อยากให้ระบุให้ชัดเจน เพื่อจะได้เตรียมการปรับตัวได้ถูกต้อง” ต่อคำถามสำคัญนี้ จะต้องพิจารณาจากความเปราะบางของแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 ด้าน แต่ละด้านจะมองเห็นได้ว่าจังหวัดใดบ้างมีความเปราะบางสูง ปานกลาง และต่ำ ในด้านเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการตั้งถิ่นฐานที่ควรจะรับมือร่วมกัน พบว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเปราะบางโดยรวมในระดับที่สูงที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาความเปราะบางในแต่ละด้าน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเปราะบางในระดับสูงในเกือบทุกด้าน
อนึ่ง จากการประเมินความเปราะบางในเขตภาคเหนือตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านสาธารณสุข และตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ทางด้านตะวันตกและด้านเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเปราะบางด้านการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกพืชไร่ ขณะที่กลุ่มจังหวัดทางด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเปราะบางในพื้นที่ที่ปลูกพืชอาหาร พื้นที่ที่มีความเปราะบางด้านการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ พื้นที่ตามแนวชายฝั่งทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ส่วนพื้นที่เปราะบางของแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม คือ พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น