อนุสาวรีย์แห่งความดี เป็นอนุสรณ์สถานที่เชลยศึกสัมพันธมิตรในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้สร้างไว้หลังจากยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ.2488
เพื่อตอบแทนคุณงามความดีความมีน้ำใจของคนไทยที่ได้ให้การช่วยเหลือจนมีชีวิตอยู่รอด และได้บอกต่อลูกหลานถึงคุณงามความดีนี้
โดยปัจจุบันจะมีทายาทเชลยศึกสัมพันธมิตรจากยุโรปและทหารในเครือจักรภพอาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมงานรำลึกเป็นประจำทุกปี
ในวันที่ 11 เดือน 11(พฤษจิกายน) เวลา 11.00 น.
เชลยสัมพันธมิตรหรือนักโทษในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่จ.อุบลราชธานี เป็นเชลยที่ส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนมาจากการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควจ.กาญจนบุรี จากไทยไปพม่าที่ทำให้เชลยเสียชีวิตจากการก่อสร้างที่เร่งรีบและโหดร้ายทารุณเป็นจำนวนมากกว่า 90,000คน และเชลยจากเอเชียและยุโรปตะวันตกกลุ่มสุดท้ายได้นำมากักขังที่ค่ายควบคุมนักโทษที่จ.อุบลราชธานี โดยมีทหารญี่ปุ่นควบคุมอย่างเข้มงวด และมีความเป็นอยู่อย่างทุกข์ยากแร้นแค้นแสนสาหัส แต่ได้รับน้ำใจความเมตตาจากคนไทยโดยแอบให้ความช่วยเหลือเชลยสัมพันธมิตรที่ทุกข์ยาก แม้จะโดนทหารญี่ปุ่นทำร้ายเฆี่ยนตีเป็นประจำก็แอบช่วยเหลืออยู่เสมอ สร้างความประทับใจให้กับเชลยกอดคอกันเป็นเพื่อนตายยามยาก
หลังจากยุติสงคราม เชลยสัมพันธมิตรได้พร้อมใจกันมาสร้างอนุสาวรีย์แห่งความดีนี้ ณ ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อตอบแทนความดีงามของน้ำใจคนไทยและชาวบ้านอุบลฯ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ เป็นตัวแทนสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและสันติภาพที่การให้ด้วยความเมตตาและเสียสละจะสร้างสันติสุขให้เกิดแก่ประชาคมโลก และปรากฎขึ้นที่ประเทศไทย
โดยอนุสาวรีย์แห่งความดีนี้ตั้งอยู่อย่างสงบเงียบมากว่า 73 ปีแล้ว และจะมีงานรำลึกอนุสาวรีย์แห่งความดีนี้เป็นประจำทุกปี ในวันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. โดยจะมีทายาทสัมพันธมิตรและทหารในเครือจักรภพมาร่วมงานเป็นประจำทุกปี และมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน ในเวลา 11.00 น.จะเป่าแตรนอน ยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแก่ผู้จากไปและรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษไทยที่มีเมตตาให้ความช่วยเหลือแก่เชลยผู้ทุกข์ยาก เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนืองมาจนถึงปัจจุบัน
“น.ส.ธัญธรณ์ บัวงาม “
รายงาน