“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” 72 ชั่วโมง ข้อมูล ข้อควรรู้’ ก่อนใช้สิทธิ(ชมคลิป)

0
1193

          แถลงข่าว….

“ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) กล่าวถึงกรณีนโยบายรัฐบาล “ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

กำหนดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ว่า จากการติดตามในช่วง 1 วันที่ผ่านมา มีการติดต่อสอบถามมายังศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โทร. 02 872 1669 มีผู้สอบถามเข้ามา 56 ราย ในกลุ่มนี้เข้าเกณณ์ฉุกเฉินวิกฤต 25 ราย ไม่ข้าเกณฑ์ 31 ราย และนอกนั้นอีก 120 ราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยแต่สอบถามเกี่ยวกับรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ ยังได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่ในชื่อชุด 9 ข้อควรรู้ก่อนใช้สิทธิ์ UCEP ให้ประชาชนไว้ใช้ศึกษาก่อนเพื่อทำความเข้าใจก่อนใช้สิทธิ UCEP ซึ่งชุดข้อมูลมีรายละเอียดดังนี้

1. UCEP คืออะไร UCEP คือ นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน(กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการ อย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต

2. ใครบ้างที่ใช้สิทธินี้ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้อง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้และเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิ

3. เจ็บป่วยฉุกเฉินแค่ไหนถึงจะใช้สิทธิ UCEP ได้ ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ กพฉ.ประกาศกำหนด และ รายละเอียดเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ สพฉ. กำหนดกรณีกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

4. ขั้นตอนในการใช่สิทธิ UCEP เป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลของตนเองในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิอะไร และกรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้ง รพ.ให้รับทราบว่าขอใช้สิทธิ UCEP ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต

5. ในกรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่นั้นจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีนี้ โรงพยาบาลเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางทีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด(Preauthorization)ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

6. รูปแบบการทำงานของ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านได้ทางไหน ติดต่อได้ที่ 02 872 1669

7. หากมีข้อโต้แย้งเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะใช้เวลานานหรือไม่ในการพิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ทางศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ ร่วมกับวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย จะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที โดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด

8. เมื่อรักษาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว กระบวนการขั้นตอนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อในโรงพยาบาลจะดำเนินการอย่างไร ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ รับทราบว่ามีผู้ป่วยวิกฤตเข้าระบบ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีการประเมินและบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization และ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งต่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้กองทุนเจ้าของสิทธิดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติให้ได้ทันภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อครบ 72 ชั่วโมงแล้วหรือพ้นภาวะวิกฤตแล้ว

9. หากประสานไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้วรพ.แจ้งว่าไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย จะมีการดำเนินการเช่นไร และหากมีค่าใช้จ่ายใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) จะแจ้งไปยังกองทุนต่างๆเพื่อให้ดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

“พล.อ.ต.เฉลิมพร บุญสิริ”…….. ประธานวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนี้จะมีการติดคำนิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” หน้าห้องฉุกเฉินของรพ.ต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งจะเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแพทย์ฉุกเฉินทราบเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต หลักๆ มี 6 กลุ่ม คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.