กรมประมงเตือน กินปลาปักเป้า แม้ทำสุก ก็ยังอันตรายถึงตายได้

0
1343

กรมประมงเตือนรับประทานปลาปักเป้าน้ำจืดเสี่ยงต่อการได้รับพิษอัมพาตและเป็นอันตรายถึงตาย ไม่ควรนำมารับประทานเพราะถึงแม้จะนำปลามาต้มแล้วแต่พิษของปลาที่ละลายในน้ำก็จะสามารถทนความร้อนได้สูง พิษของปลาปักเป้าชนิดที่มีพิษนั้นแม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรปฏิบัติตามข้อตักเตือนของกรมประมงพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะผู้ขายเพื่อที่เราจะไม่ได้เห็นข่าวพี่น้องของเราต้องเสียชีวิตลงเพราะปลาปักเป้าอีกต่อไป
น.ส.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง ให้รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมหลังพบผู้เสียชีวิตเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาจากการนำปลาปักเป้าไปรับประทานว่า จากการสำรวจพบว่าปลาปักเป้าในน่านน้ำไทยมีทั้งหมด 42 ชนิด แบ่งเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด 9 ชนิด และอีก 33 ชนิด เป็นปลาปักเป้าน้ำเค็มและน้ำกร่อย สำหรับปลาปักเป้าน้ำจืดของไทยพบว่าพิษถูกจัดอยู่ในกลุ่มพิษอัมพาต (Paralytic Shellfish Poison, PSP) ได้แก่ Saxitoxin (STX) ซึ่งพิษ STX จะมีคุณสมบัติละลายในน้ำและแอลกอฮอล์ มีความคงตัวในกรดอ่อน และสลายตัวในสภาพความเป็นด่าง ความร้อนสูงจากการประกอบอาหารไม่สามารถทำลายพิษนี้ได้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบปริมาณพิษ STX ที่ทำให้เสียชีวิตได้จากการรับประทาน มีปริมาณเริ่มต้นตั้งแต่ 500 ไมโครกรัม ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างโดยกองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำพบว่า ในบางฤดูปลาปักเป้า 1 ตัวมีปริมาณพิษ STX สูงถึง 9,400 ไมโครกรัม ดังนั้นจึงไม่ควรนำมาบริโภค เพราะปลาแต่ละตัวมีปริมาณพิษไม่เท่ากัน และผู้บริโภคแต่ละคนมีความอ่อนไหวต่อพิษ STX และความแข็งแรงทนทานของร่างกายไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงนำมารับประทาน
จากรายงานการตรวจพบพิษจากตัวอย่างปลาปักเป้าน้ำจืดในประเทศไทย พบว่า ในปี 2539 ดร.อัธยา กังสุวรรณ และคณะจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ซึ่งปัจจุบันคือกองวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ได้ทำการวิจัยพิษปลาปักเป้าน้ำจืด โดยรวบรวมปลาปักเป้าน้ำจืดจากแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาศึกษา พบปลาปักเป้ามีพิษได้แก่ ปลาปักเป้าดำ (Tetraodon leiurus) ปลาปักเป้าสุวัตถิ (Tetraodon suvatii) ปลาปักเป้าจุดแดง (Tetraodon fangi) และปลาปักเป้าจุดดำ (Tetraodon steindachneri) โดยพบว่าพิษของปลาปักเป้าน้ำจืดแพร่กระจายอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย ทั้งในเนื้อเยื่อ หนังและอวัยวะภายใน เช่น ตับ และไข่ของมันด้วย ส่วนความรุนแรงของพิษแตกต่างกันไปตามฤดูกาลและแหล่งอาศัย จากการวิจัยพบว่าปลาปักเป้าที่จับได้จากแหล่งน้ำไหลตามธรรมชาติจะมีความเป็นพิษเฉลี่ยต่ำกว่าที่จับได้จากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำปิด และในเดือนมีนาคม ปี 2558 ได้มีการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาปักเป้า 2 สายพันธุ์คือ ปลาปักเป้าจุดแดง (Tetraodon fangi) และปลาปักเป้าบึง (Tetraodon palustris) จากจังหวัดมหาสารคาม ได้ตรวจพบพิษทุกตัวอย่างซึ่งในครั้งนั้นมีผู้รับประทานปลาปักเป้าแล้วเสียชีวิตด้วยเดือนมีนาคม และล่าสุดในปี 2559 ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปลาปักเป้า 2 สายพันธุ์คือ ปลาปักเป้าจุดแดง (Tetraodon fangi) และ ปลาปักเป้าบึง (Tetraodon palustris) จากจังหวัดร้อยเอ็ด ตรวจไม่พบพิษทุกตัวอย่าง ซึ่งผู้ขายได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ยึดตัวอย่างปลาปักเป้าว่า ได้รับประทานแล้วไม่เกิดอันตราย แต่ทั้งนี้ ขอเตือนว่าอย่าไว้วางใจโดยเด็ดขาดเนื่องจากปลาปักเป้าน้ำจืดนั้นพบพิษได้ทุกส่วนของร่างกาย
สำหรับพิษของปลาปักเป้าน้ำจืดเมื่อได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายพิษจะเข้าไปขัดขวางเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อจึงเกิดการยับยั้งกระแสประสาท การส่งสัญญาณไฟ้ฟ้าของเซลล์ต่างๆ สูญเสียไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายและ ที่เป็นอันตรายที่สุดคือการเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ จึงทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ อาการของพิษจะกำเริบขึ้นหลังได้รับพิษจากปลาอาการพิษที่เกิดขึ้นจะแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ ขั้นแรก ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน กระสับกระส่าย ขั้นที่2 ชามากขึ้น อาเจียนมาก อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้ ขั้นที่3 เคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ เนื่องจากสายกล่องเสียงเป็นอัมพาต ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ขั้นที่4 กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั่วไป หายใจลำบาก เขียวคล้ำ หมดสติ รูม่านตาโตเต็มที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่ทนพิษไม่ได้ อาการอาจแรงขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่สี่และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยสามารถทนพิษได้อาจอยู่ได้นานถึง 24 ชม.ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงหากถึงมือแพทย์
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ปัจจุบันการรักษาพิษจากปลาปักเป้านั้นยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถแก้พิษได้ จึงอยากฝากเตือนถึงประชาชนไม่ให้นำปลาปักเป้าทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็มมาบริโภคโดยเด็ดขาด และหากสงสัยว่าได้รับพิษจากปลาปักเป้าให้รีบขจัดพิษในเบื้องต้นด้วยการหาซื้อผงถ่านจากร้านขายยาทั่วไปมารับประทานเพื่อดูดพิษในร่างกาย และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน และข้อสำคัญคือไม่ควรรับประทานปลาปักเป้าเป็นอาหาร ควรหันไปเลือกรับประทานสัตว์น้ำชนิดอื่นแทนเพราะยังมีสัตว์น้ำหลายชนิดให้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์และไม่มีอันตราย
นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264 ) พ.ศ. 2545 เรื่อง การกำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า และจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมอาหาร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 ผู้ที่ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสองปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.