มหิดล ทำหมันยุงลายสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก

0
2087

2 พ.ค. 59 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) ศาลายา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวโครงการทำหมันยุงลายเพื่อลดไข้เลือดออก ว่า โครงการทำหมันยุงลาย เป็นการวิจัยของศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ ของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการจัดทำโครงการทำหมันยุงลายเพื่อลดไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุงลายให้เกิดประสิทธิภาพ โดยขณะนี้กลุ่มวิจัยได้พัฒนายุงสายพันธุ์ที่ผ่านการทดลองในห้องแล็บ และจะนำร่องในพื้นที่จริง เพื่อลดจำนวนยุงลายในธรรมชาติ รวมถึงเป็นการลดค่าใช้จ่าย จำนวนผู้ป่วยจากไข้เลือดออกทั้งไทยและต่างประเทศ
“โครงการนำร่องทำหมันยุงลาย ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และครั้งแรกของโลกที่มีการทำหมันยุงลายแนวใหม่ โดยมี 2 ขั้นตอน ทั้งฉายรังสีและฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย ซึ่งวิธีการทำหมันยุงลายแนวใหม่นี้ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศใดมาก่อน โดยเฉพาะกับยุงลายบ้าน และหากทีมวิจัยนำร่องในพื้นที่จริง ประสบความสำเร็จ ก็จะมีการขยายต่อในการจัดทำโรงงาน หรือฟาร์มผลิตทำหมันยุงลาย 2 ขั้นตอน แห่งแรกของโลก ที่จะช่วยลดจำนวนยุงลายในธรรมชาติ” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ประชุมเพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการผลักดันวิธีการควบคุมยุงลายแนวใหม่นี้ให้ถูกนำไปใช้ได้จริง ส่วนต่างประเทศ ได้ร่วมกับผู้บริหารปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประเทศออสเตรีย, ผู้เชี่ยวชาญในด้านการควบคุมยุงจากประเทศสวีเดน และเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการดังกล่าวในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งทางปรมาณูฯ ได้บริจาคเครื่องมือที่จะใช้ในการฉายรังสีเพื่อการทำหมันยุงให้แก่ประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท ที่จะช่วยฉายรังสีทำหมันยุงได้ครั้งละ 1 แสนตัว

ส่วน รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสไข้ชิคุนกุนยาได้สำเร็จ กล่าวว่า การทำหมันยุงลายสายพันธุ์ใหม่นี้ ใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ ซึ่งสกัดได้จากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน หากปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่พัฒนาแล้วออกสู่ธรรมชาติ ยุงลายบ้านตัวผู้เหล่านี้จะไปผสมพันธุ์ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติทำให้ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน และลดจำนวนยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงด้วย

“การทำหมันยุงลายแนวใหม่นี้ จะทำถึง 2 ขั้นตอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยนำยุงลายบ้านตัวผู้สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาแล้วมารฉายรังสีปริมาณอ่อนก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อทำให้ตัวมันเองเป็นหมัน ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ ถึงแม้จะผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วเหมือนกันก็ตาม และหากยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วหลุดออกไปในธรรมชาติ ก็ไม่สามารถนำเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไข้ชิคุนกุนยาสู่คนได้ รวมถึงไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ เนื่องจากยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกปล่อยสู่ธรรมชาติจะตายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่แพร่พันธุ์ต่อเนื่องจากเป็นหมัน” รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ ชี้แจง

นักวิจัยผู้นี้ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรามีการเพาะพันธุ์ยุงลายบ้านสายพันธุ์ใหม่ ในห้องทดลอง ได้ประมาณ 1 หมื่นตัวและกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทีมนักวิจัยจะสามารถปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่ถูกทำหมัน 2 ขั้นตอน ในโครงการนำร่องเพื่อลดจำนวนยุงลายบ้านในธรรมชาติ ณ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่แรกของโลกภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะมีการเก็บผลการทดลอง อีก 6 เดือนหลังจากปล่อยยุงลายบ้านในธรรมชาติ ซึ่งในการปล่อยครั้งนี้ คาดว่าจะปล่อยจำนวน 100 ตัว ต่อหลังคาเรือน

“สาเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านอื่นๆ ประมาณ 500 เมตร และได้มีการสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า เป็นพื้นที่มีทั้งหมด 150 หลังคาเรือน และบ้านหลังหนึ่งจะพบยุงลายประมาณ 5-10 ตัว อีกทั้งยุงลายจะมีลักษณะติดบ้าน ถ้าอยู่บ้านไหนแล้วจะอยู่ที่นั้น หรือบินห่างออกไปเพียง 100-200 เมตร การเก็บข้อมูลหลังจากปล่อยยุงลายบ้านสายพันธุ์ใหม่ จึงสามารถได้ผลที่ชัดเจน ว่าลดจำนวนยุงลายได้จริงหรือไม่ เพราะไม่มียุงลายจากที่อื่นมาปะปนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หลังจากได้ผลการวิจัยแล้ว จะนำไปสู่การขยายผลไปพื้นที่ต่างๆ และจัดตั้งโรงงานผลิต เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา รวมถึงโรคอื่นๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงจะเป็นครั้งแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการทำหมันยุงลาย 2 ขั้นตอน” รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าว

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.