นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา ทำให้ภาษีส่งออกและนำเข้าสินค้าในหลายรายการลดลงเหลือ ร้อยละ 0 และผลจากการที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีมติให้ประเทศที่พัฒนาแล้วยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรของไทยมีอนาคตสดใสในการส่งออกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีความชื่นชอบผลไม้และอาหารไทยมาก ทำให้มีการบริโภคสินค้าเกษตรมากขึ้นตามไปด้วย นับเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศลดการพึ่งพาการส่งออก ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นที่เกษตรกรต้องดำเนินการ คือการรักษามาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเกษตรให้มีความปลอดภัยจากจุลินทรีย์และสารเคมี และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน มาช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้จัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนาการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ระดับฟาร์ม สถานที่รวบรวมผลผลิต ห้องเย็นและโรงงานแปรรูป โดยให้การรับรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน GAP GMP และHACCP แก่ผู้ประกอบการระดับต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
สำหรับในปี 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการรับรองระดับฟาร์ม จำนวน 104,918 ฟาร์ม โรงงานแปรรูป จำนวน 1,269 โรงงาน และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าเพื่อการส่งออก จำนวน 326,559 ตัวอย่าง ซึ่งปัจจุบันสินค้าเกษตรส่งออกของไทยได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งมีการตีกลับสินค้าส่งออกลดลง เห็นได้จากการส่งออกไก่เนื้อไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ส่งออกได้เฉพาะไก่แปรรูปแล้วเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า การผลิตไก่เนื้อของไทยได้มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีระบบการผลิตที่ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับเพื่อยืนยันแหล่งผลิตได้
อย่างไรก็ตาม ผลจากการพัฒนามาตรฐานของสินค้าเกษตร ยังตกถึงมือเกษตรกรไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีช่องว่างของผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับกับผู้ประกอบการที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงดำเนินการโครงการตลาดเกษตรกร (Farmers Market) ขึ้นทุกจังหวัด ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรได้มีแหล่งจำหน่ายสินค้ามาตรฐาน เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ลดความเสี่ยงจากการส่งออก อันเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานรากตามแนวทางตลาดประชารัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล