“ลูกที่ดีย่อมดำเนินตามแบบอย่างพ่อแม่ที่ดี และพ่อแม่ที่ดีสามารถหล่อหลอมให้ลูกเป็นคนดีได้” เช่นเดียวกับการเลี้ยงลูกของ “สมเด็จย่า” ด้วยความเป็น “แม่” ที่มีทั้งความปราดเปรื่องหลักแหลม มีความรัก ความเอาใจใส่ รวมไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งทรงตั้งใจอบรมพัฒนาลูกๆ ให้ดีในทุกๆ ด้านเพื่อให้เป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง
ไม่แปลกใจว่าทำไมประเทศไทยถึงมี “พระมหากษัตริย์” ที่ทรงเป็น “ผู้ให้” ที่ยิ่งใหญ่ และมีพระจริยวัตรที่งดงาม ครองใจคนทั้งแผ่นดินได้มากขนาดนี้ แถมยังเป็นพระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู ซึ่งการย้อนกลับไปยังสถานที่ที่สร้างพระองค์ขึ้นมาอย่าง “ครอบครัว” โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของ “แม่” ซึ่งเป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน คือสิ่งที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเด็กทั้งแผ่นดิน
เรียน เล่น อย่างมีความสุข
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นรากฐานของมนุษย์ทุกคน ความสำคัญนี้ รศ.เยาวพา เดชะคุปต์ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้วในปี พ.ศ.2556) อดีตนักวิชาการ และอาจารย์จากภาควิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยกล่าวไว้ในงานเสวนา เรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษาไทย” ว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเฉพาะในวัยที่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งได้รับการปลูกฝังในเรื่องการเล่นเรียนอย่างมีความสุข ดังจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่นดิน ทราย ได้สัมผัสของจริง ส่งผลให้พระองค์ท่านเป็นผู้ที่เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รู้จักสังเกต
ชมลูกอย่างไรไม่ให้ “เหลิง”
แน่นอนว่า วิธีส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อลูกทำดี หรือประสบความสำเร็จ การชื่นชมของพ่อแม่คือสิ่งสำคัญ และเมื่อลูกท้อแท้ “กำลังใจ” คือสิ่งที่ลูกอยากได้จากพ่อแม่เช่นกัน ซึ่งบางคนบอกว่า ชมมากเดี๋ยวลูกจะเหลิง แต่การชมไม่ให้เหลิง คือการชมอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล
เห็นได้จากความตอนหนึ่งในงานพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเลี้ยงลูกของ “สมเด็จย่า” ด้วยการชมอย่างถูกต้อง เพราะท่านทรงมองว่า การชมลูกพร่ำเพรื่ออาจกลายเป็นโทษตามมา
“ตีลูก” ไม่ใช่ตีพร่ำเพรื่อ
แม้ใครหลายคนจะมองว่า “การตีลูก” คือการลงโทษที่ควรหลีกเลี่ยง แต่สำหรับ “สมเด็จย่า” ทรงสอนลูกด้วย “การตี” จนได้ดี แต่ไม่ใช่ตีโดยขาดสติ หรือตีกันทุกความผิด บอกเล่าได้จากเรื่องราวตอนหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์”
“ชีวิตที่ผ่านไปเรื่อยๆ แม่จัดการเรียน การเล่น การออกสังคมของเรา ท่านดูแลอาหาร ความสะอาด และสุขภาพ เราต้องทำทุกอย่างเป็นเวลา ถ้าเราไม่ทำตามที่ต้องทำจะถูกทำโทษหรือถูกตี โดยมีการอธิบายกันก่อนว่าทำไมจึงถูกตี บางครั้งก็จะมีการเจรจากันว่าควรตีกี่ครั้ง
พระองค์ชายตอบว่า ’หนึ่งที’ ส่วนแม่ก็ตอบว่า ‘เห็นจะไม่พอ เพราะทำมาหลายที ควรเป็นสามที’ จึงได้ตกลงกันเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ผลักเขาอีกเมื่อโตขึ้นแล้ว แม่จะใช้วิธีอธิบายสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งที่ดีไม่ดี โดยพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล”
นอกจากนั้น ยังทรงเขียนบรรยายถึงการลงโทษของ “แม่” ต่อไปว่า”…วันหนึ่งแม่ได้ยินเสียงร้องเพลงเอะอะออกมาจากห้องเย็บผ้า เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เห็นสองพระองค์เอากระโปรงที่พาดไว้ที่พนักเก้าอี้ เพื่อจะแก้เมื่อมีเวลา มาสวมเต้นระบำแบบฮาวายจนตะเข็บขาดหมด แม่ก็ถามว่า ทำไมจึงเอากระโปรงของแม่มาเล่นเช่นนี้ ได้รับคำตอบว่ากระโปรงตกอยู่ที่พื้น นึกว่าไม่ใช้แล้ว แม่เลยปรับเสียคนละ 2 แฟรงค์”
มองถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ
“…ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดีสำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติและบ้านเมือง ตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆ ให้ได้รับความอบรม และเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน” (จดหมายของแม่ถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ 12 กรกฎาคม 2476)
ทั้งหมดนี้ คือ “ส่วนหนึ่ง” ในคำสอนของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผล สอนให้รู้จักเป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำจริง เป็นนักค้นคว้าวิจัย ความอดทน อดออม และเห็นประโยชน์ข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นจนเติบโตขึ้นมาเป็น “พระมหากษัตริย์” ที่ครองใจคนไทยทั้งชาติ โดยแง่คิดเรื่องการเลี้ยงลูกที่ได้ตรัสสอนไว้ในหนังสือ “ดั่งสายธาร ศรีนครินทร์แห่งแผ่นดิน” พอจะนำมาสรุปทิ้งท้ายได้เป็นอย่างดีว่า
“ต้นไม้นี่มันคล้ายๆ คน ต้นบานชื่นนี้ฉันไม่ได้ปลูกด้วยเมล็ด แต่ไปซื้อต้นเล็กๆ ที่เขาเพาะแล้วมาปลูก แต่มันก็งามและแข็งแรงดี เพราะอะไรหรือ เพราะคนที่เขาขายนั้นเขารู้จักเลือกเมล็ดที่ดี และดินที่เขาใช้เพาะก็ดีด้วย นอกจากนั้น เขายังรู้วิธีว่าจะเพาะอย่างไร ซึ่งฉันไม่สามารถทำได้เช่นเขา
เมื่อฉันเอามาปลูก ฉันต้องดูแลใส่ปุ๋ยเสมอ เพราะดินที่นี่ไม่ดี (ที่นี่ หมายถึง พระตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองพุยยี่สวิตเซอร์แลนด์) ต้องคอยรดน้ำพรวนดินบ่อยๆ ต้องเอาหญ้าและต้นไม้ที่ไม่ดีออก เด็ดดอกใบที่เสียๆ ทิ้ง คนเราก็เหมือนกัน ถ้าพันธุ์ดี เมื่อเป็นเด็กก็แข็งแรง ฉลาด เมื่อพ่อแม่คอยสั่งสอน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนที่เจริญ และดีเหมือนกับต้นและดอกบานชื่นเหล่านั้น”
ขอบคุณภาพจากสำนักพระราชวัง และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ