นายอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความกังวลและห่วงใยประชาชนจึงมีการสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ทั้ง 4 กระทรวงจะตัดสินใจภายใน 2 อาทิตย์ ก่อนวันที่ 13 พ.ค.นี้ เกณฑ์ตัดสินใจต้องดูในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ การตัดสินใจจะมองในภาพรวม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าปล่อยไปจะเกิดอะไรขึ้น
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึง การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบรัษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงทางด้านสิ่งแวดล้อมก่อนการประกอบการเหมืองแร่ทองคำในด้านข้อมูลธรณีวิทยา ดิน น้ำ และพืชผักในรอบพื้นที่เหมือง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นที่ฐานมาจากหลายส่วนราชการ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลจากคณะกรรมการ 5 ฝ่าย ตลอดจนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
“การตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลพบเหล็กและแมงกานีสสูงเกินมาตรฐานเนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ ยังไม่สามารถบ่งชี้หรือสรุปได้แน่นอนว่ามาจากกิจกรรมของเหมือง ส่วนสารหนูหรือไซยาไนด์พบมีปริมาณน้อยและไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนการตรวจค่าโลหะหนักของผักและผลไม้ในพื้นที่อยู่ในระดับไม่แตกต่างจากผักและผลไม้ที่อื่น” อรรชกา กล่าว
อารมย์ คำจริง ประธานเครือข่ายประชาสังคมและปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กล่าวว่า ขอคัดค้านสัมปทานเหมืองทอง คัดค้านนโยบายทองคำ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ รวมถึงคัดค้านใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ทองคำฯ การรับฟังเสียงประชาชนในครั้งนี้มีเวลาสั้นมากที่จะอธิบายปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองอย่างรอบด้าน จึงขอความเป็นธรรมจากรัฐมนตรี 4 กระทรวงเ ขอความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบรอบเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์
“ขอคัดค้านการรับฟังเสียงประชาชนผู้สนับสนุนเหมืองเนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลของบริษัทอัคราฯ และครอบครัวซึ่งไม่อาจเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนในประเทศ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอนุมัติอนุญาตการทำเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากบุคคลดังกล่าวเป็นพนักงานเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียเองอยู่ภายใต้ข้อบังคับคำสั่งของบริษัทอัคราฯ” อารมณ์ กล่าว
เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการบริษัท ประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนเหมืองทองแยกเป็น 2 ส่วน 1.การต่ออายุประทานบัตรแปลงหนึ่งซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เดิมได้เจาะลงไปจนลึกแล้วการเจาะลงไปในพื้นที่เดิมทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถ้าได้การต่ออายุประทานบัตรแปลงบริเวณข้างๆ บริษัทจะสามารถทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพได้และจะมีความคุ้มทุน 2.เรื่องต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ไม่ต่างจากใบอนุญาตโรงงานอื่นๆ ในกรณีนี้ต่ออายุทุก 5 ปี ซึ่งจะหมดในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ขณะนี้เราได้ยื่นเอกสารประกอบการขออนุญาตไปเรียบร้อยแล้วอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
“ในการส่งเอกสารได้ส่งเอกสารให้กรมเหมืองฯ ครบถ้วนเพื่อยืนยันว่าเราได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผ่านมาที่ภาครัฐตั้งไว้โดยครบถ้วน ซึ่งเราหวังว่าท่านจะต่อใบอนุญาตให้ดำเนินต่อ เพราะถ้าชะลอก็กลับบ้านเลยแค่นั้นเอง เพราะตัวหลักเกณฑ์ของการต่อใยอนุญาติโลหกรรมภายใต้ พ.ร.บ.แร่ คุณจะทำงานได้ต่อเมื่อได้ใบอนุญาต เพราะวันใดที่ใบอนุญาตนี้หมดวันรุ่งขึ้นทำไม่ได้”
“เราอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ผมยืนยันว่าคนแถวนี้ไม่มีใครป่วย แต่อาการที่เกิดจากสารพิษหรือโลหะหนักที่มีการโฆษณากันนำอามาให้ดูเลยว่าใครที่มีหลักฐานป่วย จากสารหนู แมงกานีส อะไรก็แล้วแต่ มีแต่ข้อวิตกกังวล ข้อสงสัย แต่โดยข้อเท็จจริงทางการแพทย์ทางวิทยาศาสตร์ที่เรามีอยู่ ผมมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจมีอยู่บ้างคนบางคนที่มีค่าสารหนูในปัสสาวะสูง แมงกานีสในเลือดสูง แต่ว่าลองไปดูสาเหตุอื่นๆ เพราะผมมั่นใจในกระบวนการดูแลเรื่องผลของสิ่งแวดล้อมไม่ว่าฝุ่น น้ำ เสียง ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือดีกว่าที่กำหนดด้วยซ้ำไป ถ้าคุณคิดว่าเหมืองของเราเป็นพื้นที่มลภาวะ ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นใครป่วยก่อน ต้องเป็นผม เป็นคนในเหมืองก่อน ทำไมคนที่อยู่ห่างไปห้ากิโลเมตรป่วย และผมไม่ป่วย คุณอธิบายอย่างไร เรายืนยันว่าเราทำตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ” เชิดศักดิ์ กล่าว