ไฟเขียว14พย.
กิจกรรมบันเทิง-ทีวีคืนผังงดน้ำเน่า/ตลกหยาบคาย
เขิญธงสู่ยอดเสา
คงไว้ “ข้าราชการ-วิสาหกิจ “ไว้ทุกข์ 1 ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงแนวทางมาตรการจัดกิจกรรมบันเทิงหรือกิจกรรมต่างๆตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือช่วงไว้ทุกข์ 30 วันว่า จะมีการปลดล็อคเรื่อยๆ และทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี ประเทศไทยมีเรื่องการท่องเที่ยว การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสมและสถานที่จัดงาน ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็น บนเกาะ และอื่นๆ โดยมอบให้พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือเพื่อชี้แจงต่อไป แต่ขอร้องอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าแต่งตัวไม่สุภาพช่วงนี้ ส่วนการจัดงานในที่รโหฐานจัดได้ ทั้งศิลปินดาราแสดงได้แต่ต้องอยู่ในกรอบ ไม่หยาบคาย หรือแสดงให้เห็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีงาม
“เมื่อครบ 30 วัน สถานีโทรทัศน์สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นปกติได้ แต่ขอร้องให้ลดโทนลงบางรายการ เช่น เรื่องตลกโปกฮา เถื่อนๆ ขอให้ใช้วาจาสุภาพ เชื่อว่าทำได้ รัฐบาลขอความร่วมมือแต่ไม่ห้ามไปทั้งหมด”นายกฯระบุ
ของดละครน้ำเน่า/แย่งผัว-เมีย
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯและเลขานุการศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.)กล่าวเพิ่มเติมถึงเนื้อหาละครว่า ให้ผู้จัดพิจารณาตามความเหมาะสม นโยบายรัฐบาลคือ อยากให้ทุกอย่างเป็นปกติ เคยทำอะไรมาก็ทำต่อ ถ้าทำอยู่แล้วก็ฉายได้ เว้นแต่ละครบางเรื่องประเภทแย่งผัว แย่งเมีย ตบตีกันตลอด อยากให้เอาเรื่องอื่นมาแทนก่อนได้หรือไม่ ส่วนละครบางเรื่องอาจมีช่วงขำๆในบทบางตอนก็ไม่เป็นไร หรืออาจเอาละครแนวสืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ เรื่องรักประโลมโลกที่ไม่มากนักสามารถนำมาฉายได้ ถ้าน้ำเน่ามากๆควรพิจารณา ไม่ถึงขั้นต้องส่งบทละครมาให้ตรวจ เพราะไม่มีการเซ็นเซอร์ใดๆ เราทราบดีว่าการขอความร่วมมืองดรายการรื่นเริง 30 วัน กระทบเรื่องโฆษณาต่างๆรัฐบาลอยากให้เดินหน้าไปได้ ส่วนสีของรายการโทรทัศน์กลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าทางช่องจะใช้สีขาวดำ หรือสีหม่นก็ได้
ครม.ปลดล็อคกิจกรรมบันเทิง
พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติครม.ในเรื่องแนวทางจัดกิจกรรมบันเทิงหรือกิจกรรมต่างๆตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือครบ 30 วันว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาได้ข้อสรุปและเสนอครม.ให้จัดกิจกรรมต่างๆได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจำแนกกิจกรรมเป็น 9 ลักษณะคือ
1.งานเทศกาลระดับประเทศ เช่น ลอยกระทง คริสต์มาส วันปีใหม่ ตรุษจีน 2.งานเทศกาลระดับจังหวัด เช่น งานกาชาด เทศกาลผีตาโขน 3.งานส่งเสริมเศรษฐกิจระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น เช่น งานกิจกรรมถนนคนเดิน งานประเพณีชนวัว 4.งานรื่นเริง วัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ลิเก ลำตัด ดนตรี มหรสพ และการประกวดต่างๆ 5.กิจกรรมสถานบันเทิง เช่น ไนต์คลับ ผับ บาร์ 6.กิจกรรมที่จัดภายในโรงแรม เช่น การจัดประชุมสัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ 7.การแสดงคอนเสิร์ต 8.งานตามประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานกฐิน ผ้าป่า งานมงคลสมรส งานบวช และ 9.งานแข่งขันกีฬาทุกระดับ และกองเชียร์ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานต้องพิจารณาความเหมาะสมให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้คำแนะนำและปรึกษากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การใช้พื้นที่จัดกิจกรรมเป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่
14พย.ให้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา
พ.อ.หญิงทักษดากล่าวต่อว่า ขณะที่การจัดรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยขอความร่วมมือผู้รับผิดชอบรายการพิจารณาความเหมาะสม และควรสอดแทรกรายการที่ให้ความรู้เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศ
สำหรับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐให้ไว้ทุกข์มีกำหนด 1 ปี เช่นเดิม สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวให้พิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนการลดธงครึ่งเสา 30 วัน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีจะครบกำหนดวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้น วันที่ 14 พฤศจิกายนจะเป็นวันแรกในการชักธงเต็มเสาเหมือนเดิม