ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเล่นสงกรานต์กับการประหยัดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2559
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า กิจกรรมหนึ่งซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้กับเทศกาลสงกรานต์ของไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือกิจกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นในแทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อเป็นการคลายร้อนและสร้างความสนุกสนานให้กับผู้คน แต่อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2559 มานี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อย่างต่อเนื่องจนอาจส่งผลกระทบกับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง รัฐบาลจึงได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำเล่นสงกรานต์อย่างประหยัดและให้ลดปริมาณการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ลง ขณะเดียวกันหน่วยงานที่จัดงานสงกรานต์ในหลายพื้นที่ได้ลดเวลาการจัดงานสงกรานต์ให้สั้นลงและขอความร่วมมือให้ผู้ที่จะมาร่วมเล่นน้ำสงกรานต์ใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมเห็นด้วยและยินดีที่จะปฏิบัติตาม ขณะที่ผู้คนในสังคมบางส่วนได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าการลดเวลาจัดงานสงกรานต์ให้สั้นลงรวมถึงการขอความร่วมมือให้ใช้น้ำเล่นสงกรานต์อย่างประหยัดและลดการใช้ลงอาจส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ในปี พ.ศ. 2559 ลดความสนุกสนานลงได้ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเล่นสงกรานต์กับการประหยัดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 ถึง 8 เมษายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,164 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.69 และเพศชายร้อยละ 49.31 ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.19 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการไปเล่นสงกรานต์ในสถานที่สาธารณะ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 46.13 ระบุว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตนเองเคยไปเล่นสงกรานต์ในสถานที่สาธารณะที่มีการจัดให้เล่นสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.36 ระบุว่าเคยไปบ้างเป็นบางปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.51 ระบุว่าตนเองไม่เคยไปเลย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.46 ระบุว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2559 นี้ ตนเองตั้งใจจะออกไปเล่นสงกรานต์ในสถานที่สาธารณะที่มีการจัดให้เล่นสงกรานต์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.78 ระบุว่าตนเองตั้งใจจะไม่ไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.76 ยังไม่แน่ใจ
ในด้านความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.04 เห็นด้วยว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีที่ผ่านๆมามีการใช้น้ำเล่นสงกรานต์อย่างฟุ่มเฟือยมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.74 มีความคิดเห็นว่าประชาชนจะลดการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2559 นี้ได้จริงเมื่อเทียบกับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีที่ผ่านๆมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.78 คิดว่าไม่ได้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.48 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.72 มีความคิดเห็นว่าการรณรงค์ให้ใช้การรดน้ำแทนการเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีส่วนช่วยลดปริมาณการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.23 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดวันเล่นสงกรานต์ให้พร้อมกัน/ตรงกันหมดในทุกพื้นที่ของประเทศจะมีส่วนช่วยลดการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ได้
เมื่อเปรียบเทียบวิธีการลดการใช้น้ำในการเล่นสงกรานต์ระหว่างการลดเวลาการเล่นสงกรานต์ให้สั้นลงในแต่ละวันกับการลดจำนวนวันเล่นสงกรานต์ให้น้อยลง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.27 มีความคิดเห็นว่าวิธีการลดจำนวนวันเล่นสงกรานต์ให้น้อยลงได้ผลมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.86 มีความคิดเห็นว่าวิธีการลดเวลาเล่นให้สั้นลงในแต่ละวันได้ผลมากกว่า โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.49 มีความคิดเห็นว่าได้ผลทั้ง 2 วิธี แต่อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.38 มีความคิดเห็นว่าไม่ได้ผลทั้ง 2 วิธี
แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58.59 ไม่เห็นด้วยหากจะมีการให้งดเล่นน้ำสงกรานต์ในปีที่ประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง/ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.22 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.19 ไม่แน่ใจ
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.87 มีความคิดเห็นว่าการรณรงค์ให้ลดการใช้น้ำเล่นสงกรานต์จะไม่ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2559 นี้ลดความสนุกสนานลงไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.2 มีความคิดเห็นว่าไม่ส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.93 ไม่แน่ใจ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 59.02 ระบุว่าการรณรงค์ให้ลดการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ไม่ส่งผลกับการตัดสินใจของตนในการออกไปเล่นสงกรานต์ในสถานที่สาธารณะที่มีการจัดให้เล่นสงกรานต์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31.62 ยอมรับว่าส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.36 ไม่แน่ใจ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว