เกษตร ให้ชาวสวนภาคตะวันออกตรวจหาค่าน้ำเค็ม เพื่อป้องกันการเสือหายของเรือกสวน

0
1528

นายสมชาย ฉันทพิริยะพูน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เขตที่ 6 เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ส่งผลให้น้ำเพื่อการเกษตรขาดแคลน เกษตรกรบางรายมีการขุดเจาะน้ำบาดาลให้มีความลึกเพิ่มขึ้น บางรายต้องหาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติม ประกอบกับมีปัญหาน้ำทะเลหนุนเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำของเกษตรกร ทำให้คุณสมบัติของน้ำอาจเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร เนื่องจากหากมีการใช้น้ำที่มีค่า EC (Electrical Conductivity) ซึ่งเป็นค่าความนำไฟฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับความเค็มของน้ำในระดับเกินกว่า1,250 micromhos/cm (ไมโครโมส์/เซนติเมตร) จะส่งผลกระทบต่อพืช โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจของภาคตะวันออก เช่น พริกไทย ไม้ผลอย่าง ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด เป็นต้น

โดยขณะนี้มีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 20 ราย นำตัวอย่างน้ำมาให้ ห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ตรวจวิเคราะห์พบมีค่าความเค็มอยู่ในระดับ 1,700-2,000micromhos/cm ซึ่งเป็นค่าที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ในสภาวะปกติ ส่งผลกระทบต่อพืชหากใช้ต่อเนื่อง พืชจะแสดงอาการ เริ่มจากปลายใบไหม้ ขอบใบไหม้กิ่งแห้ง และตายในที่สุด ซึ่งลักษณะอาการคล้ายกับภาวะกระทบแล้ง ทั้งนี้แนะนำให้เกษตรกรนำตัวอย่างน้ำมาตรวจจึงจะทราบสาเหตุว่าเกิดจากค่าความเค็มเกินมาตรฐานหรือไม่ โดยพืชแต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อค่าความเค็มแตกต่างกันตามความแข็งแรงของพืช

ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำก่อนการใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงภาวะภัยแล้งเช่นนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จันทบุรี พร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์น้ำและให้คำแนะนำ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย วัตถุอันตราย จุลินทรีย์ สารพิษตกค้าง และคลินิกพืช เกษตรกรสามารถรับบริการได้ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.