นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่มีศักยภาพได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยสภาวการณ์ปัจจุบันที่การแข่งขันทางการค้าเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ตลาดผลไม้ภายในประชาคมเปิดกว้างสำหรับสินค้าจากประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้นำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น มาตรการสุขอนามัย ระบบการรับรองคุณภาพความปลอดภัย ส่งผลให้การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและปลอดภัยตามความต้องการของตลาดจะมีโอกาสในการแข่งขันสูงกว่าสินค้าที่ผลิตในระบบปกติ
ดังนั้น จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดในการพัฒนาผลไม้ไทยสู่การเป็นผลไม้พรีเมียม มีระบบการผลิตระดับฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม GAP และระบบการผลิตของโรงงานคัดบรรจุต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ส่วนผลผลิตที่ได้ต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่สำคัญคือสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจนกระทั่งส่งออก
ในส่วนของผลไม้ภาคตะวันออกนั้น มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นผู้นำในการผลิตผลไม้ระดับพรีเมี่ยม โดยเฉพาะผลไม้หลัก 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วงและกล้วยไข่ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตผลไม้เพื่อการส่งออก ที่กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ไปถ่ายทอดให้ โดยมีการนำไปรับใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเองได้ค่อนข้างดี ตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลไม้เพื่อการส่งออก เช่น เทคโนโลยีทำให้ทุเรียนออกดอกติดผลนอกฤดู แต่เดิมทุเรียนจะเก็บเกี่ยวได้ช่วง พ.ค.-ก.ค. ปัจจุบันเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ ก.พ.-ก.ค. ช่วยให้มีระยะเวลาขายเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ทำให้ตลาดขยายได้มากขึ้น หรือเทคโนโลยีทำให้ลำไยออกนอกฤดูที่สามารถสั่งให้เก็บเกี่ยวได้พอดีกับช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการได้เลย หรือเทคโนโลยีการจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพ ซึ่งผลไม้ทุกชนิดมีการจัดการใกล้เคียงกัน ในเรื่องของการตัดแต่งผลให้กระจายทั่วทั้งต้นและไว้ผลให้เหมาะสมความสมบูรณ์ของต้น การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถส่งออกได้มากขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย