นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มูลนิธิผู้บริโภคออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 15 รายการ พบว่ามีการใช้ไนเตรท ไนไตรท์ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 3 รายการ นั้น อย. ขอแจ้งว่าไนเตรทและไนไตรท์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในการผลิตเพื่อการเก็บรักษา หรือปรุงแต่งรสชาติอาหารและเพิ่มสีสัน โดยเป็นสารวัตถุกันเสียเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสทริเดียม โบทูลินั่ม ซึ่งเจริญได้ดีในสภาวะที่ไม่มีอากาศ หรืออาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท หรือเป็นสารตรึงสีทำให้เนื้อมีสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน การใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นวัตถุกันเสียและตรึงสี ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินกฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบว่า มีการใช้ในปริมาณที่มากจนอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งให้งดผลิตหรืองดนำเข้าจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และจะมีการประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบต่อไป
สำหรับสุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และการแสดงฉลากเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. วัน เดือน ปีที่ผลิต วันหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน สูตรส่วนประกอบสำคัญโดยประมาณ ปริมาณสุทธิ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ข้อมูลรายชื่อและกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหาร หากตรวจพบว่า มีการแสดงข้อความบนฉลากอาหารไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย. มีแผนเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นประจำทุกปี โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสีย (ได้แก่ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิก) ไนเตรท ไนไตรท์ และชนิดและปริมาณสีสังเคราะห์ โดยในปีงบประมาณ 2559 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ จำนวน 200 ตัวอย่าง ขณะนี้ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก จำนวน 26 ตัวอย่าง ไม่พบวัตถุกันเสีย แต่พบผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ไนไตรท์และไนเตรท ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสถานที่ผลิตและสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่ผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ กรณีผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการ อย.ร่วมกับสำนักสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว
รองเลขาธิการฯ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอฝากไว้สำหรับผู้บริโภค ควรเลือกซื้อไส้กรอกที่มีสีไม่แดงจัดผิดไปจากธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ ก่อนซื้อควรสังเกตชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือ หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และมีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดําเนินดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป