หยุด Drop outจุดเปลี่ยนเด็ก-เยาวชน

0
1058

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร และคณะครูในการออกแบบกิจกรรมและหลักสูตรการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการความรู้คู่ความดี ภายใต้โครงการเสริมสร้างสุขภาวะในสถาบันการอาชีวศึกษา : ภาคเหนือ 3เพื่อพัฒนาระบบงานสุขภาวะในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือแบบมีส่วนร่วมที่มีผลทั้งต่อผู้เรียน ผู้บริหาร และครูในวิทยาลัยและเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสุขภาวะในสถานศึกษาให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพโดยมีสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3ในสังกัด จำนวน 8 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัย วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก วิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์เข้าร่วมที่โรงแรมเมย์ฟลาวเวอร์แกรนด์โฮเตล จ.พิษณุโลก

นางสุวรรณี คำมั่น นากยกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างสุขภาวะในสถาบันการอาชีวศึกษา เริ่มทำงานตั้งแต่การสำรวจพฤติกรรมเสี่ยง พฤติกรรมอันพึงประสงค์ จึงเกิดการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ปกครองและนักศึกษา ซึ่งเป็นการเติมเต็มพฤติกรรม ทักษะชีวิตให้กับเด็กอาชีวะทั้งนี้ การเรียนทักษะชีวิตอาจจะเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ในสังคมทั่วไป แต่สังคมในโรงเรียน วิทยาลัย สถานศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและต่อเชื่อมกัน ดังนั้น โครงการนี้ สสส.ได้นำประสบการณ์ องค์ความรู้มาเชื่อมต่อให้เกิดการทำงานงานอย่างเป็นระบบทำให้คุณค่าของนักศึกษามีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม ฉะนั้น อย่ามองว่าการสร้างภาพลักษณ์ต้องขึ้นกับการจัดประกวดอย่างเดียว เช่นการประกวดคนพันธ์อาร์ แต่อยู่ที่ตัวของนักศึกษาที่จะสร้างพฤติกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทำให้การสร้างคุณค่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของสถาบันอาชีวะต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ โครงการกำลังขยายไปยังภาคกลาง ใต้ ตะวันออก และอีสาน ซึ่งจะครอบคลุมสถาบันอาชีวะศึกษาทั้งหมดทั่วประเทศ

“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงหรือการสร้างสรรค์พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวของเราเพียงลำพัง ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ถ้าครู อาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองอยากเห็นพฤติกรรมสร้างสรรค์ก็ต้องช่วยกันสร้าง ซึ่งไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินต้องช่วยกันดูแลทำให้เกิดผลในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายเดียวกันจึงจะประสบความสำเร็จ เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างให้กับสถาบันอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมโครงการว่าสุขภาวะในสถาบันอาชีวศึกษาจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากประเด็นที่เลือกมาขับเคลื่อนเกิดจากสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ทั้งเรื่องอบายมุข การมีเพศสัมพันธ์ การเคารพกติกาในเรื่องอุบัติเหตุอุบัติภัยซึ่งใช้วิธีการจัดการแตกต่างกัน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญคือการทำร่วมกันด้วยความสมัครใจ” นางสุวรรณี กล่าว

ด้านนางทิชา ณ นครผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง” ว่า อย่าตีตราเด็กว่าเป็น “กลุ่มเสี่ยง”เด็ดขาดเพราะไม่มีเด็กคนไหนชอบเมื่ออดีตมนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่นาทีนี้มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินดังนั้น การเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินจะหวังในสิ่งที่มนุษย์ในอดีตต้องการไม่ได้ เรามีครอบครัวมหาศาลที่พ่อแม่ไม่มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยตนเอง ส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่า ตายายที่ต่างจังหวัด ทำได้แค่การส่งเงินไปให้ แต่ไม่ได้ส่งสายใยไปด้วยเด็กก็ถูกเลี้ยงด้วยเงิน เมื่อลูกโตดูแลตัวเองได้พ่อแม่มารับไปอยู่ด้วย ซึ่งก็เหมือนกับคนที่รู้จักตัว แต่ไม่รู้จักใจมาใช้ชีวิตด้วยกันเด็กเติบโตบนความสงสัยในคุณค่าของตนเอง ภูมิชีวิตบกพร่อง สายสัมพันธ์ผุพัง เมื่อเกิดปัญหาความไม่เข้าใจครอบครัวพังทลาย เด็กออกจากบ้านไปเป็นเด็กเร่ร่อน โดยมีเด็กจำนวนมากที่แตกหักจากครอบครัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ปรากฏในพื้นที่ทำงานเชิงระบบของรัฐเวลาเด็กทำผิดก็โทษพ่อแม่ ครอบครัว ซึ่งไม่ควรจะโทษพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ไม่ได้เป็นจำเลยของสังคม แต่พ่อแม่เป็นผลของการพัฒนาเมืองพัฒนาประเทศจึงขาดการเติมจุดเปราะบางของพ่อแม่ ฉะนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กในปัจจุบันเกิดจากการกระทำและไม่กระทำของผู้ใหญ่ทั้งสิ้น จึงขอยืนยันว่าอาชญากรเด็กเป็นไม่ได้ด้วยตนเองแต่เป็นได้จากส่วนผสมที่สำคัญ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ห้องเรียนและประเทศ

นางทิชา กล่าวต่อว่าประเทศไทยมีประชากรประมาณ 65 ล้านคน มีครอบครัว 22.8 ล้าน แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากคือเด็ก เยาวชน ถูกจับจำนวน35,000-50,000 คนต่อปี ร้อยละ 66.81 เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์มีประวัติ Drop out ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งหมายถึงว่าการให้เด็ก 1 คนออกจาก โรงเรียนไม่ได้ผลักแค่ร่างกายชื่อนามสกุลออกไป แต่ได้มอบความพ่ายแพ้และสิ่งสำคัญให้ความน่ากลัวที่สุดคือเวลาว่างอันมากมายให้กับเด็กไปด้วย เมื่อความพ่ายแพ้บวกเวลาว่างเท่ากับการก่ออาชญากรรม สมการจะออกมาแบบนี้ทันที เพราะเวลาเด็กออกจากโรงเรียนคงไม่มีเด็กคนไหนที่ไปหางานทำทันที ดังนั้นเมื่อไม่มีเป้าหมายในชีวิตก็ทำในสิ่งที่น่ากลัวได้

“เมื่อประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิดต้อนรับเด็กบางคนกลุ่มทันที ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม และอีกหลายกระทรวงต้องนำตัวเลขเด็กDrop out มาสร้างพลังใหม่หรือมีนโยบายที่ชัดเจนว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่โรงเรียนจะไล่เด็กออกจากโรงเรียน เพราะประเทศไม่จำเป็นต้องมีครู หมอ วิศวกร จากกอาชีพเดียวทั้งหมด เนืองจากประเทศยังมีกรรมกร มีอาชีพอีกมากมายที่ไม่ต้องจบอะไรก็ได้ ดังนั้น ทำไมต้องคิดว่าเด็กทุกคนต้องจบมหาวิทยาลัย เด็กอาจจะเรียนไม่เก่ง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบแต่ปัจเจกผู้อ่อนแอเป็นผู้รับผล จึงไม่ยุติธรรม ปัญหาเด็กนับแสนคน Drop out สังคมเงียบงันไม่มีใครพูดสักคำ แต่เด็กที่Drop out ไปก่อคดีสังคมขอมาตรการ ขอบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งตนไม่ได้อยู่ข้างเด็กแบบไม่รู้สึกผิด แต่เมื่อเรามีระบบที่ผิดพลาดและเด็กที่อ่อนแอเป็นผู้รับผล ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องทำได้อะไรได้มากกว่านี้ ไม่ใช่มาทำหน้าที่เยียวยาหลังจากที่เด็กก่ออาชญากรรมไปแล้ว ฉะนั้น การไม่ให้เกิดระบบ drop out จะสามารถช่วยเด็กได้อีกจำนวนมาก” นางทิชา กล่าว

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.