สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ทรงพระราชสมภพ
วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ตรงกับ วันจันทร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช 1314 นับเป็นปีที่ 7 แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
พระนามเมื่อแรกประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติการต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ ศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาเสด็จพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์ว่า “…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือ พระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบาร มีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว…ดวงใจทุกดวงมีความสุข…” นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษา มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา
ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
สมเด็จพระยุพราช
วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ปวงชนชาวไทยต่างปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”
ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรยิ่ง ดังความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
การศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดรภาค พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่าง พ.ศ. 2499-2505 ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2509-2513 หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี โดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบวางหลักสูตร ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519
สำหรับการศึกษาทางการทหาร พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 5-6 ระหว่าง พ.ศ. 2520-2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ครั้นถึง พ.ศ.2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย
พระราชโอรส-พระราชธิดา
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประสูติเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548
กาลเวลาผ่านไปได้เป็นที่ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงยึดมั่นในพระปฏิญญา ทรงพระวิริยอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ ดังปรากฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศตลอดมา ทรงสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ดังนั้น จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เมื่อพระชนมพรรษา 11 พรรษา ได้ทรงนำกองลูกเสือสำรองโรงเรียนจิตรลดาเข้าร่วมพิธีสวนสนาม ลูกเสือไทย ณ สนามกีฬาแห่งชาติ และเมื่อทรงพระเจริญวัยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ นานัปการ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เอง พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนมีการสร้างสรรค์ความผาสุกสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่ประเทศ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา การศาล การสังคมสงเคราะห์ การพระศาสนา การต่างประเทศ การศึกษา ฯลฯ
ด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข
ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น ทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ จึงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรสจำนวน 21 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน
และเมื่อ พ.ศ. 2537 ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น
ด้านการศึกษา
ในด้านการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดนครพนม กำแพงเพชร สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดอุดรธานี สงขลา และฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย
เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอ ทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส
ส่วนในด้านอุดมศึกษา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี
ด้านสังคมสงเคราะห์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น
ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ด้านการต่างประเทศ
การมีสัมพันธไมตรีอันดีกับมิตรประเทศ เป็นรากฐานสำคัญของความสงบสุขและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงพระวิริยอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปีปีละหลายครั้ง เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525
ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ทรงพบสมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง มีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา สหพันธ์เอกวาดอร์ สาธารณรัฐเฮลเลนิก(กรีซ) ออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ 2-4 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ไปทรงเยือนประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ต้องทรงเตรียมพระองค์ด้วยการทรงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะเสด็จฯ ไปทรงเยือน และระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้นๆ นอกจากทรงมุ่งมั่นที่จะทรงเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจกรรมต่างๆ ที่จะทรงนำมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมืองไทยด้วย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร การจราจรทางอากาศ เมื่อทรงเยือนประเทศในทวีปอเมริกาใต้, ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อทรงเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา, ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านการป้องกันสาธารณภัยที่ประเทศเกาหลี เป็นต้น
ด้านการพระศาสนา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และมีพระราชศรัทธาทรงพระผนวชในบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ระหว่างทรงพระผนวช ทรงศึกษา และทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น
ด้านการกีฬา
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เองนานัปการ เช่น การพระราชทานไฟพระฤกษ์ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จนำเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดี
ซึ่งนักกีฬาของไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความปลาบปลื้มในสิริมงคลและมีขวัญกำลังใจที่จะนำความสำเร็จและนำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติต่อไป
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ด้านการทหาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน กล่าวคือ ระหว่างเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ที่นครเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ
เดือนธันวาคม 2522–มกราคม 2523 ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยูเอช–1 เอช และหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี แบบ เอเอช–1 เอส คอบรา ของบริษัทเบลล์ นอกจากนั้นยังทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญการบินในระดับสูงมาก
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก กระทรวงกลาโหม
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2535 ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และเนื่องด้วยทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบเอฟ–5 อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ่งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชายชาติทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง
ทรงเป็นแบบอย่างของลูก
นับจากทรงพระเยาว์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปยังท้องถิ่นต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่นานัปการ รวมทั้งทรงจัดเที่ยวบินมหากุศลโดยทรงประจำในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนา จึงมีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อสมทบทุนเพื่อการกุศลอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
และในปีพ.ศ. 2558 มีกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั่นคือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มีกิจกรรม Bike for Mom-ปั่นเพื่อแม่ กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการร่วมแสดงออกของประชาชนถึงความรักที่มีต่อแม่และแม่ของแผ่นดิน เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย และเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อีกทั้งได้นำกิจกรรมดังกล่าวไปต่อยอดขยายผลต่อไป
หลังจากนั้น วันที่ 11 ธันวาคม 2558 มีกิจกรรม ปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และทรงนำขบวนพสกนิกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชปณิธานที่จะจัดกิจกรรมจักรยานถวายพระเกียรติ และถวายความจงรักภักดีเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับพสกนิกรชาวไทย เพื่อถวายเป็นราชสดุดี โดยทรงเป็นประธานนำขบวนในวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทิตาต่อพระมหากษัตริย์ ทรงร่วมเทิดพระคุณพ่อและเพื่อความสามัคคีของชาวไทยทั้งชาติ