ถือเป็นเรื่องที่น่าปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” โปรดเกล้าฯ สถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร)” แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์ใหม่ สืบแทน “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)” สมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดิมที่เสด็จละจากธาตุขันธ์ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร)” ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของวัด ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ โดยพระองค์แรกคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ 2 คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ และก่อนที่จะมีการแก้ไข “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535)” เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนา หลังการสิ้นพระชนม์และหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)” ปรากฏรายนาม “สมเด็จพระราชาชั้นสุพรรณบัฏ” ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย” ที่เป็น “ตัวเต็ง” มาเป็นลำดับ
ลำดับแรกสุดที่สามารถใช้คำว่าเต็งหามก็คือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เนื่องเพราะ “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ตามกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ในขณะนั้นได้ตราเอาไว้ถึงผู้มีสิทธิที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่แล้วในที่สุดสมเด็จเกี่ยวก็ละสรีระสังขารไปเสียก่อนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2556
จากนั้น เต็งหามก็ตกมาเป็นของ “สมเด็จวัดปากน้ำ” คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ และเป็นเต็งหามมาโดยตลอดเนื่องจาก “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ตามที่กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ได้บัญญัติเก่าไว้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จวัดปากน้ำมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกร้องเรียนในเรื่องของความเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีการครอบครองรถ Mercedes Benz รุ่น W186 ทะเบียน ขม 99 รถยนต์คลาสสิกสุดหรู ซึ่งเลี่ยงภาษีและปัจจุบันคดีความก็ยังคงดำเนินอยู่ รวมทั้งปัญหาเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ “สมเด็จพระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธมมฺชโย)” เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์แห่งวัดพระธรรมกายที่ถูกออกหมายจับข้อหาฟอกเงินและรับของโจรในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ในฐานะพระอุปัชฌาย์ ทำให้การนำรายชื่อสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชมีอันต้องชะงักลง
กระทั่งสุดท้ายทุกอย่างก็คลี่คลายเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้ “มาตรา 7” ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นของพระมหากษัตริย์ เรื่องจึงมีอันยุติลง
นั่นหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และมิได้ยึดโยงกับ “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” เป็นสำคัญ หรือหมายความว่า พระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “ชั้นสุพรรณบัฏ” ในปัจจุบัน ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ทั้ง 8 รูปมีสิทธิได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนา ประกอบด้วย
หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม
สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
ห้า- สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
หก-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร
เจ็ด-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
และแปด-สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
แต่จะอย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ถือเป็น “ตัวเต็ง” มีอยู่ 3 คน โดยรูปแรกแม้หลายคนจะเชื่อว่าหมดสิทธิแต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาก็ยังแอบลุ้นอยู่เหมือนเดิมนั่นคือ สมเด็จวัดปากน้ำ คนถัดมาก็คือสมเด็จพระ วันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารฯ และองค์ที่ 3 ก็สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ นั่นคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
อย่างไรก็ดี กระแสข่าวเรื่องสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ก็ยังคงเป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีระแคะระคายมากขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาก็คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) กระทั่งในที่สุดความชัดเจนก็ปรากฏในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่าหลังจากมีการดำเนินการตามขั้นตอนพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยพิจารณาเสนอรายชื่อไป 5 องค์ หลังจากมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 11.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
“ขออย่าขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าองค์อื่นดีหรือไม่ดี เคยบอกไปว่าต้องดูเรื่องงานและเรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยที่พระองค์ท่านทรงพิจารณาเอง” พล.อ.ประยุทธ์อธิบาย
การโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ถือเป็นการสถาปนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่สภานิติบัติญัติแห่งชาติได้แก้ไขโดยการถวายคืนพระราชอำนาจโดยแท้ เนื่องเพราะหากยึดตามกฎหมายเดิมจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 3 และไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการสถาปนา
โดยสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีความอาวุโสสูงสุด เป็นลำดับที่ 1 ก็คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ปี 2538
ลำดับที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2544
ลำดับที่ 3 ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2552
ลำดับที่ 4 ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุตได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552
ลำดับที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2553
ลำดับที่ 6 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2554
ลำดับที่ 7 ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557
และลำดับที่ 8 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559
ทั้งนี้ การสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกยังความปลื้มปีติแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะมีความเหมาะสม และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยสาเหตุไม่ได้มีข้อครหาใดๆ มาทำให้เสื่อมพระเกียรติสกลมหาสังฆปริณายก ผู้เป็นประมุขของคณะสงฆ์ไทย
นอจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับอาวุโสทางสมณศักดิ์อยู่เหมือนเดิม กล่าวคือสำหรับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จวัดปากน้ำนั้น แม้จะ มีอาวุโสทางสมศักดิ์ แต่ก็ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีปัญหาในเรื่องของความเหมาะสม ขณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ก็ทรงชราภาพมากและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) มีอาวุโสสูงสุดทางสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 3
ขณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “มาแรง” พอสมควรในระยะหลัง และหลายคนมุ่งหวังให้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีอายุพรรษา “อ่อนกว่า” สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ถึง 10 ปี และมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพเช่นกัน
และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เข้าถวายสักการะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ที่วัดปากน้ำ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมกับ “ขอลา” เพื่อไปรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งวงการสงฆ์ตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อหลีกทางให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)
แต่ก็ไม่วายที่บรรดาศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายจะตีความเข้าข้าตนเองว่า เจ้าคุณปยุทร์ยอมหลีกทางให้สมเด็จวัดปากน้ำขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
เว็บไซต์ “อะลิตเติ้ลบุดดาดอทคอม” (www.alittlebuddha.com)ได้วิเคราะห์เส้นทางการขึ้นสู่สมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร) เอาไว้ก่อนหน้าที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร) นั้น คุ้นเคยงานทั้งในมหาเถรสมาคมและในพระบรมมหาราชวัง มาแทบว่าชั่วชีวิต นับตั้งแต่สนองงานสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ พระองค์ก่อน ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ควบกับกรรมการมหาเถรสมาคม…”
“ด้านอุปนิสัยใจคอ ว่ากันว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์-อัมพร นั้น ท่านเป็นคนตงฉินพอๆ กับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ ปัญหาในมหามกุฎราชวิทยาลัย-มมร. ซึ่งเรื้อรังนานหลายปี … สุดท้ายได้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ฟันธงเปรี้ยงเดียว สนามกีฬาหน้า มมร. เรียบเป็นหน้ากลอง ไม่มีขยะให้ขัดหูขัดตามาจนบัดนี้ ดังนั้น ถ้าได้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์เข้ามาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็เชื่อว่า จะสามารถบังคับบัญชาสังฆมณฑล ได้อย่างน่าไว้วางใจ”
นอกจากนี้ ยังเป็นที่รับรู้กันว่า วัตรปฏิบัติหรือปฏิทาของสมเด็จพระสังฆาราชพระองค์นี้นั้น ดำเนินไปด้วยความ “สมถะ-เรียบง่าย” เจ้าประคุณสมเด็จไม่มี “รถยนต์ส่วนตัว” บางครั้งเวลารับกิจนิมนต์ก็ยังเดินทางด้วยแท็กซี่เสียด้วยซ้ำไปและมักเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับสหธรรมิกตามวัดต่างๆ เสมอวมารโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย
แต่ที่สำคัญและต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย แถมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร โดยปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จยังคงเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อีกด้วย
“เจ้าประคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่มท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ดุล อตุโล หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พ.ศ.จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย”พระพรหมเมธี(จำนงค์ ธัมมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่า
เฉกเช่นเดียวกับ หลวงปู่อุทัย สิริธโร เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่(เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่บอกว่า เมื่อครั้งที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหามุนีวงศ์ ได้เคยร่วมธุดงด์ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2503 ที่วัดถ้ำขาม หลังเทือกเขาภูพาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระมหามุนีวงศ์และพระมหาสาครร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมในสถานที่ด้วยกัน ครั้งนั้นได้ศึกษาธรรมะ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัวและเกจิจำนวนหลายองค์….ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”
ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จได้เคยแสดงพระธรรมเทศนา เนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา โดยกล่าวถึงหลวงปู่ฝั้นในบางช่วงบางตอนว่า “…อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า ทำใจให้สบาย ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่า ทำใจให้สบาย ในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่า จับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งจะไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
นอกจากนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์นี้ยังป็น “สัทธิวิหาริก” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ศิษย์” ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่งวัดราชบพิธฯ ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
คำสอนที่ลูกศิษย์จำขึ้นใจคือ อยู่ให้เขาเบาใจ ยามจากไปให้เขาอาลัยถึง ไม่ใช่อยู่ให้เขาหนักใจ จากไปให้เขาไล่ส่ง อย่าทำเป็นตากระทู้ หูกระทะ เปรียบเทียบถึงหูกระทะที่มีหู แต่ไม่ได้ยิน ส่วนตากระทู้ คือ ต้นไม้มีตาเป็นปุ่มๆ แต่มองไม่เห็น จงตาดู หูฟัง นำแบบอย่างที่ดีงามมาปฏิบัติ หรือคำสอนที่ว่า เขาสอนก็ฟัง เขาทำก็ดู เรียนรู้แล้วปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นสัตบุรุษ แต่ถ้าเขาสอนก็ไม่จำ เขาทำก็ไม่ดู เรียนรู้ก็ไม่ปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นควาย
แม้ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีพระชันษา 90 ปี แต่พระพลานามัยแข็งแรง ทรงเคร่งครัดเรื่องการฉัน เน้นผักผลไม้ เนื้อปลา เน้นหลักที่ว่า ข้าว 1 คำ เคี้ยวนาน 36 ครั้ง ไม่เป็นภาระกับกระเพาะ ลำไส้ และพระองค์จะเดินจงกรมรอบพระอุโบสถทุกเช้ามืด ทุกวันไม่เคยว่างเว้น
ส่วนญาติโยมเลื่อมใสศรัทธาจะนำทรัพย์สินมีค่าต่างๆ มาถวาย เจ้าประคุณสมเด็จจะไม่ขอบรับ แต่หากใครมีจิตสาธารณกุศลก็จะนำเข้ามูลนิธิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปใช้ในสาธารณกุศลเช่น สร้างโรงพยาบาลหรือจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เป็นต้น
“เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โพสต์ข้อความความอินสตราแกรมส่วนพระองค์ “nichax” โดยเป็นภาพสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พร้อมทรงแสดงความยินดีและทรงโพสต์สัญลักษณ์พนมมือไหว้ด้วย
นี่คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่พุทธศาสนิกชนสามารถ “กราบ” ได้อย่างสนิทใจ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน และเว็บไซต์
www.dhammajak.net
อัตโนประวัติและชาติภูมิ
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) นามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ เคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก
ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ และปัจจุบัน พ.ศ. 2560 เจ้าประคุณสมเด็จมีอายุ 89 ปี 68 พรรษา