นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ปัญหาการบริหารจัดการบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีครูสอนไม่ตรงสาขา ครู ไม่ครบชั้น ครูขาด ครูเกิน นั้นรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ต่าง ๆ พิจารณาเกลี่ยครู ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นว่า ตัวเลขภาพรวมครูทั้งอัตรากำลังที่มีอยู่กับการบรรจุจริงไม่แตกต่างกันมากนัก
ในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) คือ สพป. มีอัตรากำลัง 293,045 อัตรา บรรจุจริง 302,008 อัตรา เกินอยู่ 8,963 อัตรา ขณะที่ สพม.มีอัตรากำลัง 128,357 อัตรา บรรจุจริง 119,693 อัตรา ขาด 8,644 อัตรา แต่สำหรับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) จะมีความต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง คือมีอัตรากำลัง 9,717 อัตรา แต่บรรจุจริง 4,428 อัตรา ขาดอยู่ถึง 5,529 อัตรา “การแก้ปัญหาจะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องดูความเหมาะสมหลายด้าน หากจำเป็นจริง ๆ ก็คงต้องมีการเกลี่ยอัตรา แต่ถ้าแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่นได้ก็ ไม่จำเป็นต้องเกลี่ย เชื่อว่าทุก กศจ.ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษาและทราบปัญหาอย่างดีจะสามารถแก้ไขปัญหาได้
อย่างไรก็ตามจากตัวเลขอัตรากำลังดังกล่าวจะเห็นความขาดแคลนอย่างมากในส่วนของงานการศึกษาพิเศษ ดังนั้น ในการแก้ปัญหานี้ผมจะขอให้ดูแลเรื่องครูการศึกษาพิเศษด้วย เพื่อให้ได้ครูผู้สอนที่เหมาะสมกับความพิการแต่ละประเภท ให้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนคุณภาพการจัดการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งเด็กปกติ และเด็กพิการ มีประสิทธิภาพทั้งระบบ” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว.