เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมประชุมกับบุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดหารศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน ก่อนจัดทำข้อเสนอที่จะเป็นข้อมูลสนับสนุนแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรมว.ศึกษาธิการ พิจารณาใช้ในการปฏิรูปการศึกษาไทยต่อไป
นายศรีราชา กล่าวว่า หลังพบว่าปัญหาการศึกษาไทยมีการลงทุนสูงแต่ด้อยคุณภาพ และมีแนวโน้มคุณภาพลดลง อีกทั้งยังไม่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอหลักการนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา เช่น ให้มีการตั้งองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด(super board) เพื่อกำหนดทิศทางแผนการพัฒนาการศึกษาของชาติเป็นช่วงๆ ปรับเปลี่ยนให้เกิดความทันสมัย โดยยกระดับการศึกษาเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม อ่านออกเขียนได้ และประกอบอาชีพพื้นฐานได้ และเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึง ป.6 และให้แยกสายสามัญและสายอาชีวะตั้งแต่ชั้น ม.1 โดยจัดการเรียนการสอนสายอาชีวะในชั้น ม.1-3 ให้เด็กมีพื้นฐานและทักษะในการทำงาน และเมื่อจบชั้น ม.6 สามารถเปลี่ยนไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้
เสนอให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการสอน แก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรครู โดยการวัดผลและประเมินผลการศึกษาต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระดับทั้งประเทศ ขณะเดียวกันใช้ผลสัมฤทธิ์ของเด็กเป็นตัวเลื่อนเงินเดือนครู
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งการันตีเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ และเสนอให้ตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติ วางระบบหลักสูตร พัฒนาการศึกษาให้ทันสมัย สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบหลักสูตรการศึกษาของชาติ ให้มีการปรับปรุงเนื้อหาการสอนให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต และวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีโลก ทั้งนี้ขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ทั้ง 15 ฉบับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ทั้ง 15 ฉบับผ่านจะได้เชื่อมโยงการทำงานได้ทั้งระบบ และนำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจังและครบถ้วน อย่างช้าภายในไม่เกิน 5 ปี.