พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา พร้อมด้วย ที่ปรึกษาและบุคลากรจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมประชุมกับบุคลากรทุกภาคส่วนในจังหวัดนครพนม และนักวิจัยจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำหลักสูตรให้เหมาะสมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 แห่ง ตาม ประกาศของ คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ได้มาติดตามความก้าวหน้าการจัดทำหลักสูตรในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนจำนวน 210 คน ทั้งนี้จังหวัดนครพนม บางส่วนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้งมีชายแดนติดกับแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว ที่สินค้าจากประเทศไทยจะสามารถส่งไปยังลาว เวียดนามและจีนทางใต้ได้ ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน จึงต้องมีลักษณะเพิ่มเติมพิเศษที่ให้ผู้เรียนระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน และมหาวิทยาลัย มีเนื้อหาที่สามารถทำให้ผู้เรียน รู้ เข้าใจ และทำงานได้ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยเฉพาะ นักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ปริญญาตรี เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วต้องสามารถทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษและนอกเขตเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถทำการค้าขายกับเวียดนามและจีนได้อีกด้วย
ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นี่เป็นบทบาทหนึ่งในความก้าวหน้าของกระทรวงศึกษาธิการยุคปัจจุบัน ในการจัดทำหลักสูตรที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ มีนโยบายและให้มีการปฏิบัติจริง ในการวิเคราะห์ Pestel (นโยบาย เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม กฎหมาย) ประกอบแนวคิดในการทำเนื้อหา อีกทั้งมีแบบสอบถามแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น 210 ชุด เพื่อนำมาเป็นสภาพแวดล้อม ที่จัดทำหลักสูตรให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์ สอดรับกับสภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเป็นการเฉพาะอีกด้วย