นายอธิวัฒน์ ปิยะนันท์วงค์ ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ เปิดเผยว่า จากที่ได้ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาไทย เปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนในเดือนสิงหาคมนั้น ได้มีราชภัฏหลายแห่งไม่เห็นด้วยและใช้เวลาเปิดปิดตามเติมอาทิ
จนถึงขณะนี้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) หลายแห่งทยอยกลับมาเปิดปิดภาคเรียนเหมือนเดิมแล้ว อย่าง มรภ.เชียงใหม่ ส่วน มรภ.ลำปาง มรภ.เทพสตรี มีมติเห็นชอบให้กลับมาเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิม ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เช่นเดียวกับ มรภ.ชัยภูมิ มรภ.ราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีมติให้กลับมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิมตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 นายอธิวัฒน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มีมหาวิทยาลัยที่กลับมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิมแล้ว ได้แก่ มรภ.ธนบุรี และ มรภ.นครสวรรค์ ซึ่งได้เปิดปิดภาคเรียนตามเดิมตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ที่ผ่านมา ส่วน มรภ.กำแพงเพชร มรภ.นครศรีธรรมราช มรภ.สุรินทร์ มรภ.ศรีสะเกษ มรภ.ร้อยเอ็ด และ มรภ.มหาสารคาม ได้เปลี่ยนมาเปิดปิดภาคเรียนตามเดิมตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 ขณะที่ มรภ.พระนคร ไม่ได้เปลี่ยนมาเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนตั้งแต่ต้นแล้ว “ถามว่าราชภัฏได้อะไรจากการกลับมาเปิดปิดภาคเรียมแบบเดิมของไทย ในมุมมองผมคิดว่าสมญานามกับคำว่า ‘คนของพระราชา และข้าของแผ่นดิน’ เพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึง การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นไทย นักศึกษา คณาจารย์ ผู้ปกครอง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหลุดพ้นจากปัญหาทั้งปวง อันเนื่องจากการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียน มรภ.จะไม่เป็นภาระต่อสังคม และประเทศชาติด้านพลังงานไฟฟ้า และทรัพยากรน้ำอีกต่อไป ในการให้บริการวิชาการ และวิชาชีพโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการประหยัดน้ำประหยัดไฟได้อย่างเต็มที่ นักศึกษา มรภ.จะจบการศึกษาก่อน ได้โอกาสในการหางานทำก่อนอย่างน้อย 2 เดือน ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายของนักศึกษา และยังตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตราชภัฏ” นายอธิวัฒน์กล่าว นายอธิวัฒน์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ผู้บริหาร มรภ.คือผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และได้รับความชื่นชมจากชาวอุดมศึกษา ในฐานะที่กล้านำ กล้าตัดสินใจ โดยยืนหยัดอยู่บนผลประโยชน์ของนักศึกษา ประชาชน สังคม และประเทศชาติตามสถานการณ์ที่เป็นจริง อีกทั้ง ทำให้ลดปัญหาระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนในเรื่องต่างๆ และยังสอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านครุศาสตร์ และเป็นแบบอย่างของกระบวนการตัดสินใจ ที่ทั้งให้เกียรติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งได้ปฏิบัติตามมติมาแล้ว 2 ปี และรับฟังเหตุผลของผู้ได้รับผลกระทบ โดยยึดหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงเป็นสำคัญในการตัดสินใจกลับมาเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิม