“วิษณุ” กล่าวว่า รัฐมีบทบาท 3 ร. ช่วยการทำประชามติ คือ รักษาความสงบ ,ร่วมมือกกต. ,โรดแมป เผยคสชได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวไว้ ถ้าหาประชามติ 7 สิงหาคมนี้ ล้มเหลว
วันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 15.10 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนจาก ครม.กล่าวชี้แจงว่า ประเทศไทยเราไม่คุ้นกับการออกเสียงประชามติ ไม่เหมือนต่างประเทศซึ่งทำกันเกือบทุกปี เรามีการออกเสียงประชามติคือไปเมื่อปี 2550 ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาที่จะออกเสียงประชามติครั้งที่ 2 ถ้าผ่าน เราคงจะชิน เพราะมีปัญหาหลายอย่างในอนาคตซึ่งต้องมีการทำประชามติ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสำคัญ หากทำประชามติให้ชินทุกคนจะเข้าใจ มีระเบียบเข้ารูปเข้าลอย ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งนี้ การทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม บทบาทของรัฐบาลคือ 3 ร. โดย ร.แรก คือ 1.รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อเดินไปสู่การออกเสียงประชามติ เมื่อใดก็ตามการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะมีความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องใช้ความแตกต่างให้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อทางคลี่คลาย ไม่ให้ความขัดแย้ง แตกแยก ร้าวฉาน ย้อนกลับมา เพราะมีเชื้ออยู่ก่อนแล้วและอย่าให้เรื่องการออกเสียงประชามติเป็นเหตุสำคัญ ส่วน ร.2 ที่สอง คือ ร่วมมือกับ กกต. งบประมาณ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ด้านต่างๆ
นายวิษณุกล่าวต่อว่า และ ร.3 คือ เดินตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คือการทำประชามติ โดยฉากที่น่าจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 7 สิงหาคม คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบแต่คำถามพ่วงไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ไม่เกี่ยวกับคำถามพ่วงเพราะรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว โดยจะขึ้นทูลเกล้าฯใน 30 วัน จากนั้น กรธ.ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ แต่จะทำ 4 ฉบับที่สำคัญก่อน ได้แก่ กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยสรรหา ส.ว. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และเสนอต่อ สนช. ให้พิจารณาภายใน 2 เดือน ถ้า สนช.แก้ไขต้องส่งกลับ กรธ.ดูใหม่ ใช้เวลา 1 เดือน และนำขึ้นถวายฯ ประมาณ 1 เดือน เมื่อประกาศใช้ครบ 4 ฉบับ ก็ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
นายวิษณุกล่าวว่า 2.ร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่าน ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วงและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และ 3.รัฐธรรมนูญไม่ผ่านแต่คำถามพ่วงผ่านหรือไม่ผ่าน จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือเมื่อไม่ผ่านรัฐบาลต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เพื่อจะได้ทราบว่า จะทำอย่างไรต่อไป แต่คาดว่าจะมีการเตรียมทำไว้ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม เพราะเมื่อรู้ว่าไม่ผ่านก็จะได้เสนอแก้ไขทันทีภายใน 15 วัน ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 เดือน คงไม่ยุ่งยากเพราะไม่ต้องรื้อใหม่ หรือนำของเก่าที่เป็นส่วนดีและเป็นที่ยอมรับมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย แต่เวลานานคือพิธีกรรมคือการเขียนลงในสมุดไทย ทำกฎหมายลูก ซึ่งต้องทำให้เร็ว ซึ่งต้องคิดว่าทำอย่างไรเมื่อประกาศใช้แล้ว และการจัดการเลือกตั้งประมาณเท่าใดจึงมีความเหมาะสม