“ผอ. ปชป.” จวก กม.พรรคฯ หวั่นกลุ่มผู้มีอิธิพลในพื้นที่สร้างเครือข่าย
น.ต.สุธรรม ระหงษ์ อดีตส.ส.สมุทรสาคร และผอ.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ระบุถึง ที่ประชุม สนช.ผ่านร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองที่มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินกว่าข้อเสนอของกรธ.หลายประเด็นนั่นว่า ขนาดกรธ.ซึ่งเป็นผู้เสนอกฎหมายนี้ยังระบุเองเช่นนี้ เชื่อว่าจะมีปัญหาในทางปฎิบัติโดยเฉพาะงานขั้นตอนด้านธุรการของทุกพรรคการเมืองที่ต้องประสบปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ และกกต.เอง เพราะผู้ยกร่างกฎหมายนี้ร่างตามอุดมคติ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ปฎิบัติได้จริง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานี้ที่เรายังไม่พร้อม ตัวอย่างเช่น 1.การปรับทำทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองให้เป็นปัจจุบัน(อัพเดท) ซึ่งพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้เอง แต่ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อปรับฐานข้อมูลปัจจุบันของสมาชิกพรรคให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน ซึ่งการช่วยตรวจสอบองหน่วยงานราชการเอง ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร 2.การจัดไพรมารี่โหวตโดยสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งเพื่อหาชื่อว่าที่ผู้สมัครระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ทุกพรรคการเมือง ทั้งการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ การจัดเลือกตั้งให้มีไพรมารี่โหวตบัญชีรายชื่อเพื่อเทียบจัดลำดับผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ค่าหีบบัตร คูหาเลือกตั้ง เบี้ยเลี้ยงกรรมการประจำหน่วย 3.เรื่องสำคัญที่สุดคือ การทำไพรมารี่โหวตทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ต้องใช้เวลา หากกรรมการสรรหาผู้สมัครในนามพรรคและคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคไม่เห็นด้วยกับรายชื่อของว่าที่ผู้สมัครในระบบเขต ต้องส่งชื่อกลับไปให้สมาชิกพรรคในสาขาเขตเลือกตั้งนั้นๆ หรือสาขาพรรคประจำจังหวัดทำการสรรหาชื่อคนใหม่มาแทน หากสมาชิกพรรคยืนยันจะเอาคนเดิม ก็เกิดปัญหาร้องเรียน และอาจไม่ทันระยะเวลาที่มีในการจัดเลือกตั้ง
น.ต.สุธรรม กล่าวอีกว่า เฉพาะการทำไพรมารี่โหวตของสาขาพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นๆก็สร้างความแตกแยกในพรรคให้ร้าวลึก ยังมีปัญหาในพื้นที่ซึ่งไม่มีสาขาของพรรค โดยกฎหมายนี้กำหนดว่า ถ้าจังหวัดไหนไม่มีสาขาพรรค หรือสาขาในเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองนั้น ตั้งเป็นสาขาพรรคประจำจังหวัดนั้น โดยให้สมาชิกพรรคตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปในจังหวัดนั้น ร่วมกันโหวตเพื่อทำการคัดเลือกว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคของทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆแทนได้ เช่น กทม.มี 30 เขตเลือกตั้งก็ให้สมาชิกพรรคประจำจังหวัด กทม. โหวตคัดเลือกชื่อว่าที่ผู้สมัครในนามพรรคได้ทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง ถือเป็นช่องว่างที่อันตรายง่ายต่อการครอบงำ ชี้นำหรือแทรกแซง ที่อาจมีการฮั้วหรือให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือใช้อิทธิพลของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ในจังหวัดนั้นๆ เพราะอาจมีการจัดตั้งสมาชิกพรรคที่มีสิทธิโหวตใน 100 กว่าคนที่มีสิทธิ เลือกคนที่ตั้งไว้เพื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ จะยิ่งเป็นการใช้รู้โหว่ของกฎหมายนี้สร้างเครือข่ายการเมืองระบบเครือญาติ เฉพาะกลุ่มในวงศ์วานว่านเครือ หรือการเมืองระบบครอบครัวเข้าครอบงำได้ง่าย โดยที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคและกก.บห.ไม่มีสิทธิคัดค้านอะไรได้เลย
“ภาพรวมของกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ที่สนช.มีมติให้ออกมาบังคับใช้ แม้เจตนารมย์ในการออกกฎหมายดี แต่จะสร้างปัญหาในการปฎิบัติมาก ซึ่งป็นการออกกฎหมายในอุดมคติที่ใช้ทำจริงไม่ได้ อย่างน้อยก็ในเวลานี้ที่สังคมไทย ยังไม่มีความพร้อม ผลที่จะออกมาจะตรงกันข้ามกับที่คิดฝันไว้ เพราะเป้าหมายของกฎหมายคือการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็งเป็นสถาบัน ต้องการขจัดการครอบงำของกลุ่มทุนสามานย์ หรือกลุ่มทุนใหญ่ไม่ให้มีอำนาจในพรรค และลดอำนาจกก.บห.ให้อำนาจสมาชิกพรรค แต่การออกกฎหมายมาแล้วกลับทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ในที่สุดทุกพรรคจะแตกแยก ขัดแย้งในพรรคมากขึ้นโดยเฉพาะการไม่มีสาขาพรรคเพิ่ม มีแค่4สาขาในแต่ละภาค มีสมาชิกแค่50,000 คนเท่าที่กฎหมายกำหนด ก็เท่ากับการทำลายไม่ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน มันจะยิ่งกว่าการถอยหลังลงคลอง แต่มันออกทะเลไปเลย เพราะต้องเข้าใจว่า พรรคการเมืองบางพรรคมีการพัฒนาไกลเกินกว่าที่กฎหมายนี้กำหนดแล้ว และพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจเพื่อสนองงาน รับใช้ใคร หรือทำพรรคแค่ช่วงเวลาหนึ่ง เพราะพรรคการเมืองที่ดีต้องสร้างนโยบายพรรคเพื่อแก้ไขปัญหาของชาติและประชาชน ผมจึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สนช.ออกมาเละเทะที่สุด นอกจากบังคับใช้ไม่ได้ และยังสวนทางกับเจตนารมย์ในการยกร่างเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งอย่างชาติที่เจริญแล้ว” น.ต.สุธรรม กล่าว