ปภ. ประสาน 37 จังหวัด เหนือ อีสาน และกลาง เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วง28 เมย – 1 พค.2559

0
1564

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 37 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย จัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศไทย ขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยขึ้นสู่ตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 37 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และบึงกาฬ ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานีสุโขทัย และพิษณุโลก รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีสถานการณ์รุนแรง ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

นายฉัตรชัย กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 37 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะจะได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูดทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.