นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัยสากล ว่า จากการสำรวจสุขภาพจิตแรงงานในประเทศ มีปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุดในแรงงานไทย ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ร้อยละ 4 และภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 4 นอกจากนี้ยังมีปัญหาเสพติดสารเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย ทั้งเหล้า และบุหรี่ นำมาซึ่งความเครียด รวมถึงปัญหาการใช้ความรุนแรง และความเครียดที่หาที่ระบายไม่ได้ยังนำมาซึ่งอาการป่วยใหม่ที่เรียกว่า “การเสพติดพฤติกรรม” เช่นการเล่นเกมส์ เล่นพนันออนไลน์ หรือเล่นเน็ต และสื่อสังคมออนไลน์(โซเชียลมีเดีย) โดยโรคใหม่นี้องค์การอนามัยโลก กำลังจะบรรจุในคำวินิจฉัยทางจิตเวช ที่คาดว่าจะประกาศอยู่ในระบบการวินิจฉัยใหม่ที่เป็นเกณฑ์ให้แต่ละประเทศใช้ได้ไม่เกินปีหน้า (2560) เมื่อคำวินิจฉัยใหม่นี้ออกมาไทยจะใช้หลักวินิจฉัยนี้สำรวจปัญหาสุขภาพจิตแรงงานไทยอีกครั้ง เพื่อระบุความรุนแรงโรคการเสพติดพฤติกรรมว่าอยู่ในระดับใด
แม้ว่าจะยังไม่มีคำวินิจฉัยทางการขององค์การอนามัยโลก แต่อาการเสพติดพฤติกรรม นั้นสามารถสังเกตได้ง่าย อย่างกรณีเสพติดออนไลน์ อาการเบื้องต้น คือการใช้สื่อออนไลน์นาน 3 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่มีการหยุดพัก แต่หากเข้าขั้นหนัก คือจะเริ่มเสียงาน เช่น ไม่รับผิดชอบต่องาน ที่ทำงาน หรือทั้งๆที่ทำงานอยู่ก็ยังแอบเล่นจนงานเสีย ขั้นนี้ต้องเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกบริการสุขภาพจิต ซึ่งมีบริการอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง