นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเกิดปะการังฟอกขาวในท้องทะเลไทย ว่าได้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิน้ำทะเลหลายพื้นที่ พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลใกล้จุดวิกฤติแล้วที่ 30.5 – 30.6 องศาเซลเซียส ทั้งบริเวณทะเลอ่าวไทยและอันดามัน แต่อุณหภูมิน้ำทะเลไม่ได้ร้อนคงที่ตลอดเวลา จึงยังไม่ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาว แต่พบร่องรอยการเกิดปะการังฟอกขาวบางบางส่วน และไม่ได้ขยายวงกว้าง ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนพฤษภาคมและเพิ่มมาตรการเสริมเพื่อดูแลการเกิดฟอกขาว โดยเฉพาะมาตรการด้านการท่องเที่ยว ไม่ให้ส่งผลกระทบเกิดการฟอกขาวของปะการังในช่วงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ส่วนมาตรการฟื้นฟูปะการังกรณีเกิดการฟอกขาวด้วยการเข้าควบคุมพื้นที่มากขึ้น โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปิดแหล่งท่องเที่ยวบางส่วน เช่น เกาะยูง ในพื้นที่หมู่เกาะพีพี อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา ประกอบกับช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ จึงประกาศปิดเกาะในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี ถือเป็นการเฝ้าระวังการเกิดปะการังฟอกขาวได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ยกเว้นพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติจะคัดเลือกปิดบางพื้นที่ที่เสี่ยงเกิดการฟอกขาวและกระทบปะการังรุนแรง ควบคู่กับการป้องกันมลพิษและน้ำเสียในน้ำทะเลที่มีผลโดยตรงต่อปะการังด้วย เช่น น้ำเสียจากบ้านเรือน สถานประกอบการ และโรงงานปล่อยลงทะเล , การทิ้งคราบน้ำมันจากเรือลงทะเล และการไม่ให้เรือท่องเที่ยวทิ้งสมอเรือลงแหล่งปะการัง
ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวย้ำว่าจากนี้จะประกาศใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลประมาณ 40 พื้นที่ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่ต้องกังวล เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้ปิดทั้งเกาะ แต่จะเลือกปิดเฉพาะจุดเสี่ยงและมีปะการังสมบูรณ์อาจได้รับผลกระทบ เช่น หมู่เกาะสิมิลัน บริเวณเกาะแปด จะปิดตรงด้านฝั่งตะวันออกบริเวณตอนใต้ของเกาะ ทำให้ส่วนอื่นๆ ของเกาะยังท่องเที่ยวได้ตามปกติ