นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ว่า ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้อยู่ในเกณฑ์น้อยมากไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทานในการจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจากการจำลองสถานการณ์ฝนพบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาจะมีปริมาณน้ำมากพอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 จะมีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,516 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนและปริมาณน้ำท่าจะเพียงพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ การเพาะปลูกพืชฤดูฝนขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุมจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้(2559) ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ขอแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่นแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติประมาณเดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป