พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ประกาศมาตรฐานบังคับเพิ่มเติม 2 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรคเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตน้ำนมดิบของประเทศ และการผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมระยะนอเพลียส หรือลูกกุ้งระยะแรกเริ่มเพาะฟักออกจากไข่ โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่มาตรฐานภายใน 1 ปี
ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเป็นจุดเชื่อมต่อในการรับซื้อผลผลิตน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรนำมาลดอุณหภูมิก่อนที่จะส่งโรงงานแปรรูป ที่สำคัญต่อคุณภาพน้ำนมมาก หากการปฏิบัติไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ได้มาตรฐานจะเกิดปัญหาด้านคุณภาพ เช่น การปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ เนื้อนมไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดทำให้คุณภาพน้ำนมดิบต่ำลง ซึ่งอาจถูกปฏิเสธการรับซื้อจากโรงงานแปรรูป และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้
“ฟาร์มเพาะเลี้ยงหรือโรงเพาะฟักลูกกุ้งขาวแวนนาไมเป็นต้นทางในการผลิตลูกกุ้งจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้การผลิตกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค โดยโรงเพาะฟักจะต้องเฝ้าระวังโรคกุ้งที่สำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดโรค 6 ชนิด ได้แก่ โรคจุดขาว โรคหัวเหลือง โรคทอราซินโดรม โรคไอเอชเอชเอ็นวี โรคไอเอ็มเอ็น และโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ขณะเดียวกันยังต้องเข้มงวดในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กุ้งปลอดโรค หากผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้มาตรฐาน จะช่วยให้อัตราการเลี้ยงรอดของกุ้งและผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผลผลิตกุ้งขาวเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปอย่างเพียงพอ คาดว่า จะสามารถขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของสหกรณ์โคนมและภาคเอกชน จำนวน 232 ศูนย์ทั่วประเทศ รับซื้อน้ำนมดิบ ปีละประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มป้อนตลาดภายในประเทศและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาทิ กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น และน้ำนมดิบส่วนหนึ่งยังผลิตเป็นผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่วนโรงเพาะฟักกุ้งขาวแวนนาไม มีประมาณ 100 แห่ง ผลิตลูกกุ้งส่งให้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ ที่ผ่านมาไทยเคยมีผลผลิตกุ้งขาวสูงถึง 6 แสนตัน/ปี แต่ปัจจุบันผลผลิตลดลงเหลือปีละ 2-3 แสนตันเท่านั้น เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบส่งเข้าโรงงานแปรรูป และทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยลดลง ไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของตลาดต่างประเทศ
“การประกาศมาตรฐานบังคับทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานน้ำนมดิบและลูกกุ้ง คาดว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าได้ นอกจากนั้นยังเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทยด้วย ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งศูนย์รวบรวมน้ำดิบ และโรงเพาะฟักลูกกุ้งต้องเร่งปรับตัวโดยพัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานได้ก่อนที่มาตรฐานบังคับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า สำหรับมาตรฐานศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ 270 วัน สำหรับมาตรฐานโรงเพาะฟักลูกกุ้ง” เลขาธิการ มกอช. กล่าว