สธ.เชิญอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว จากมหาวิทยาลัย ร่วมพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ

0
1470

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระดมสมองเตรียมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เตรียมเชิญอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะกรรมการ ตั้งเป้าเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เชื่อมโยงในรูปแบบประชารัฐ เพื่อประชาชน ระยะที่ 1 ดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 16 แห่ง 12 เขตสุขภาพ ภายในมิถุนายน 2559 นี้ ก่อนขยายไปทั่วประเทศ เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลา”

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมระดมความคิดเห็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรื่อง “การเตรียมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดพัฒนาระบบบริการซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องจัดบริการที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิเขตเมืองในระยะแรก เพื่อแก้ปัญหาประชาชนเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปยากลำบาก ทั้งจากความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ และการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ เป็นแผลถลอก ปวดฟัน วางแผนครอบครัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ(Service Plan) สาขาปฐมภูมิ เตรียมเชิญอาจารย์แพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ เช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ เช่น ไต หัวใจ เป็นต้น รวมทั้ง ได้เตรียมดำเนินการเพิ่มบริการด้วย “ศูนย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประชารัฐ” เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญถึงประชาชน ระยะที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 16 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ ก่อนขยายไปทั่วประเทศ มีบริการ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีบริการเชิงรับ และเชิงรุก ด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัว 3 ทีมดูแลประชากร 3 หมื่นคน เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลา” โดยให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชน เช่น โปรแกรมไลน์ เป็นต้น

“การดำเนินการครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มระบบบริการปฐมภูมิ ด้วยการเพิ่มบุคลากรที่ดูแลประชาชนด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมภูมิ และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่ดูแล ทั้งประชาชนผู้ที่สุขภาพดี ผู้ที่เสี่ยงป่วย และผู้ที่ป่วยแล้ว อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคน มีผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพประจำตัว ประจำครอบครัว ที่มีความรู้ด้านสุขภาพ อาจจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆของกระทรวงสาธารณสุข ”นายแพทย์โสภณ กล่าว

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมการรองรับ คือเรื่องกำลังคน ให้การจัดบริการปฐมภูมิ ด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครอบคลุมเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วประเทศ 65 ล้านคน จำนวน 6,500 ทีม อาจจะใช้เวลา 5 -10 ปี ขณะนี้มีแนวทาง 2-3 แนวทาง เช่น ใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่มีอยู่ จ้างแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ การกำหนดให้แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เรียนรู้เรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวในชุมชนอย่างน้อย 6 เดือนก่อนจบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและผูกพันในงานเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งนี้ ให้ถอดบทเรียนจากการดำเนินการของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว มาปรับให้การดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ให้ได้รูปแบบที่ดีจริงๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดแออัด ลดป่วย ลดตายตามเป้าหมายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.