วันที่ 29 เมษายน 2559 ที่บริเวณคลองอิงั่ว ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จุดเชื่อมต่อกับแม่น้ำยม กรมทรัพยากรน้ำ จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรดูงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่บางระกำ ( พื้นที่แก้มลิงลุ่มน้ำยม ) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่กรมทรัพยากรน้ำ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลัก ในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่แก้มลิงบางระกำ ขุดลอก 5 ลำคลองสาขาหลัก ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำยม และแก้มลิงขนาดใหญ่ของอ.บางระกำ ในงบประมาณ 301 ล้านบาท ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและจะแล้วเสร็จโครงการในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยวันนี้ได้นำสื่อมวลชนพิษณุโลก ชมการพัฒนาคลองอิงั่วและประตูระบายน้ำ ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ และคณะกรรมการบริหารลุ่มน้ำยม
นายวันเสด็จ จันทร์สุวรรณ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทรัพยากรน้ำ ผู้ควบคุมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแหล่งน้ำธรรมชาติกระจายทั่วพื้นที่ และมีคลองเชื่อมต่อระหว่างแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายเส้น เช่น คอลงโพธิ์ คลองตะโม่ คลองดีงั่ว เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม และบึงตะเคร็ง และคลองต่างๆ อยู่ในสภาพตื้นเขิน กรมทรัพยากรน้ำจึงเห็นความจำเป็นต่อเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพคลองเหล่านี้ พร้อมสร้างอาคารบังคับน้ำประกอบตรงจุดบรรจบกับแม่น้ำยม โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2556 ถึง พฤษภาคม 2559 วงเงิน 301 ล้านบาท ในการขุดลอกคลอง ทำท่อลอด ประตูระบายน้ำใน 5 คลองสาขาได้แก่ คลองยางแขวนอู่ คลองเก้ารัง คลองโพธิ์ คลองอิงั่ว และคลองสาขาเชื่อม ในช่วงฤดูน้ำหลากจะสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตอ.บางระกำผ่านคลองสาขาลงสู่แม่น้ำยมได้เร็วขึ้น และยังสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีก 4.63 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลย มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,587 ไร่ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอ.บางระกำได้ 28,913 ครัวเรือน
พระครูวิจิตรธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดหนองป่าตอสามัคคีธรรม ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลุ่มน้ำยมเปิดเผยว่า ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งของชาวลุ่มน้ำยมได้ สภาพแม่น้ำยมเมื่อถึงฤดูน้ำหลากเชื่อมโยงถึงกันหมดระหว่างจ.พิษณุโลกและสุโขทัย หากปีใดน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ส่งผลต่อการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่จ.สุโขทัยสามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน หรือ ยังเป็นที่ที่ยังสามารรถกักเก็บน้ำไว้ เพื่อไม่ให้ไหลไปท่วมพื้นที่จ.พิจิตรเร็วเกินไป
นายประสิทธิ์ วีทอง กำนันตำบลบางระกำ เปิดเผยว่า แต่เดิมไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการน้ำได้เลย เมื่อน้ำท่วมก็ท่วมขังน้ำ เมื่อมีการสร้างระบบเครือข่ายคูคลอง ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ เพราะคูคลองสาขาเหล่านี้ เชื่อมโยงกับแม่น้ำยม และมีประตูระบายน้ำสามารถเปิดปิดบริหารจัดการได้ ซึ่งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย สำหรับคลองอิงั่ว จุดที่กรมทรัพยากรน้ำพาสื่อมวลชนมาดูโครงการนั้น เชื่อมต่อกับแม่น้ำยมในเขตต.บางระกำ ได้สร้างอาคารระบายน้ำ มีประตูเปิด-ปิดน้ำ ทั้งสามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำยม และสามารถกักเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง ขณะที่สภาพปัจจุบันนั้น น้ำในแม่น้ำยมบริเวณนี้ อยู่ในสภาพแห้งขอด มีเพียงน้ำขังเป็นแอ่งเล็กๆ เท่านั้น