นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางมากขึ้น เนื่องจากสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีผลกระทบไม่มากนัก และใช้งบประมาณก่อสร้างไม่สูงมาก โดยในงบประมาณปี 2558-2560 มีแผนที่จะดำเนินการทั้งหมด 362 โครงการ แบ่งเป็น โครงการจัดการน้ำชลประทาน 21 โครงการ โครงการจัดการแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 204 โครงการ และ โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 137 โครงการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 31,435.82 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 1.47 ล้านไร่ และสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 877.9 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอีกด้วย
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในช่วงที่ผ่านมา จะเน้นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำไว้ค่อนข้างมาก แต่ยังขาดระบบส่งน้ำ ดังนั้นในปี 2559 กรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบส่งน้ำมากขึ้น เพื่อให้น้ำกระจายเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ตลอดจนการอุปโภค-บริโภคให้กับชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีโครงการระบบส่งน้ำสำคัญๆ เช่น ระบบส่งน้ำคลองโพธิ์ ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ จ.นครสวรรค์ ระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบอ่างเก็บน้ำห้วยผาก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระบบส่งน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง และ ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ชลประทานยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญโดยแต่ละปีจะต้องเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30,000-50,000 ไร่
“ปริมาณน้ำท่าของประเทศไทยแต่ละปีมีค่อนข้างมาก เพียงพอความต้องการใช้น้ำของประเทศ แต่ยังขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำท่าที่มีมากในฤดูฝนไหลทิ้งลงทะเลเป็นส่วนใหญ่ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ๆ ไม่สมดุลกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนาน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานพยายามที่จะเร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่จะเสร็จภายในปีนี้ มีโครงการที่สำคัญๆ เช่น อ่างเก็บน้ำพระสะทึง จ.สระแก้ว สามารถกักเก็บน้ำได้ 60 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย สามารถกักเก็บน้ำได้ 37.5 ล้านลบ.ม. เป็นต้น ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่สำคัญๆ จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยศอก จ.เลย กักเก็บน้ำได้ 30 ล้านลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล จ.เพชรบูรณ์ กักเก็บน้ำได้ 13 ล้านลบ.ม.” ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทานกล่าว