โพลล์ชี้ความไม่พร้อมของสภาพร่างกายและความประมาทคือสาเหตุเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มากกว่าสองในสาม

0
1575

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่ออุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 เมษายนพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศทั้งหมด 442 คนซึ่งมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันจากการเก็บรวบรวมสถิติของสถาบันวิจัยด้านการคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนนั้นมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ความประมาท ความไม่พร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ สภาพยานพาหนะ และสภาพของถนน เป็นต้น ถึงแม้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการออกกฎข้อบังคับควบคุมการขับขี่รวมถึงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่างๆ การแก้ไขปรับปรุงสภาพของถนน ป้าย หรือสัญญาณจราจร แต่สถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่ออุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 ถึง 22 เมษายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,178 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.59 และเพศชายร้อยละ 49.41 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นต่ออุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.85 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนมีความรุนแรงพอๆกันกับในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.71 มีความคิดเห็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้นกว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในอดีต และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 10.44 ที่มีความคิดเห็นว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าในอดีต สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนคือ สภาพร่างกาย/จิตใจไม่พร้อมขณะขับขี่คิดเป็นร้อยละ 83.79 ความประมาทของตัวผู้ขับขี่คิดเป็นร้อยละ 81.32 สภาพของยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 78.61 ป้าย/ไฟสัญญาณไม่ชัดเจน/ชำรุดเสียหายคิดเป็นร้อยละ 74.28 และสภาพ/ลักษณะของถนนคิดเป็นร้อยละ 72.07
ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดบทลงโทษกับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.76 มีความคิดเห็นว่าควรมีการเพิ่มบทลงโทษกับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุให้สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.84 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีการรอลงอาญากับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บ/พิการ/เสียชีวิตจะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความตระหนักในการขับขี่อย่างระมัดระวังมากขึ้นได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.63 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีการรอลงอาญากับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บ/พิการ/เสียชีวิตจะมีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.27 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บ/พิการ/เสียชีวิตต้องบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะจะมีส่วนช่วยทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความสำนึกได้
เมื่อเปรียบเทียบวิธีการกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะตระหนักถึงการขับขี่อย่างปลอดภัยระหว่างการกำหนดโทษทางอาญาให้สูงขึ้นกับการกำหนดระยะเวลาการบำเพ็ญประโยชน์ให้ยาวขึ้นนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.02 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดโทษทางอาญาให้สูงขึ้นมีประสิทธิภาพมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.74 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดระยะเวลาการบำเพ็ญประโยชน์ให้ยาวขึ้นมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.24 มีความคิดเห็นว่าต้องทำทั้งสองวิธี
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.52 เห็นด้วยหากจะมีการห้ามมิให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตได้ขับขี่ยานพาหนะอีกตลอดชีวิต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.41 เห็นด้วยที่จะมีการประเมินสภาพจิตใจ/ภาวะทางอารมณ์/วุฒิภาวะก่อนการออกหรือต่อใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะทุกครั้ง และกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.38 มีความคิดเห็นว่าควรมีการลงโทษพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยให้บุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีขับขี่ยานพาหนะนอกเหนือจากจักรยาน/จักรยานยนต์ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.64 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดโทษกับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีซึ่งขับขี่ยานพาหนะแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตโดยให้บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญาอื่นนั้นไม่เพียงพอ ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.