เฝ้าระวัง วันนี้ถึง 6 พ.ค. 59 ยังคงมีฝนตกฟ้าคะนอง เตือนประชาชนระวังอันตราย

0
1062
ความคืบหน้าผลกระทบจากพายุฤดูร้อนรวม 39 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. – ปัจจุบัน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 154 อำเภอ 358 ตำบล 887 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และพิจิตร ภาคกลาง 12 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครนายก กรุงเทพฯ ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา

 

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า มีบ้านเรือนเสียหาย 9,496 หลังคาเรือน โรงเรียน 2 แห่ง วัด 5 แห่ง สถานที่ราชการ 3 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งรัฐบาลได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับฝ่ายปกครองและหน่วยทหารในพื้นที่ดูแลและให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น

 

โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดสำรวจความต้องการของผู้ประสบภัย อาทิ เงินช่วยเหลือ วัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน และให้การช่วยเหลือสอดคล้องกับสภาพความเดือดร้อนและความต้องการของผู้ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นไประเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่กำหนด

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 2-3 พ.ค. 59 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมี ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงเป็นแห่งๆ ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 พ.ค.59 มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆและมีลมกระโชกแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมรับมืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงได้กำชับให้ตรวจสอบสิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ กิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย เพื่อป้องกันการล้มทับและก่อให้เกิดอันตราย

 

นายฉัตรชัย กล่าวเตือนประชาชนว่า ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้ ขณะเกิดพายุฤดูร้อนให้งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.