สงกรานต์ปลอดภัย 4 วัน ( 11 – 14 เม.ย.59) อุบัติเหตุ 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 259 ราย และบาดเจ็บ 2,378 คน

0
1833

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2559 เกิดอุบัติเหตุ 555 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 78 ราย ผู้บาดเจ็บ 601 คน รวม 4 วัน ( 11 – 14 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 259 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,378 คน กำชับจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเดินทางและวิถีการเล่นน้ำของประชาชนในพื้นที่เน้นดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ พร้อมดำเนินมาตรการ “เมา จับ ยึด” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นกลไก “ประชารัฐ” และมาตรการชุมชนดูแลความปลอดภัยทางถนนของคนในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

พลโท ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 555 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 78 ราย ผู้บาดเจ็บ 601 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.82 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.83 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 10.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.32 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.58 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.69 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.59 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,128 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,810 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 673,762 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 112,617 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 33,381 ราย ไม่มีใบขับขี่ 30,701 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 26 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 26 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน ( 11 – 14 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 259 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,378 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตราด ปัตตานี พัทลุง แพร่ ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสาคร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 100 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 คน

พลโท ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (15 เม.ย.59) ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ขณะที่บางส่วน ยังคงอยู่ท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเดินทางและวิถีการเล่นน้ำของประชาชนในพื้นที่ โดยบูรณาการหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จัดตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลัก และสายรอง เพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ควบคู่กับการสนธิกำลังดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะการควบคุมมิให้มีการเล่นน้ำในพื้นที่เสี่ยงอันตรายบนเส้นทางสายต่างๆ และมีการเล่นน้ำสงกรานต์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยกวดขันกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะที่บรรทุกคนเล่นน้ำเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 46/2558 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2558 “เมา จับ ยึด” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 58 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นคนในพื้นที่ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กลไก “ประชารัฐ” และขับเคลื่อน “มาตรการชุมชน” ในการดูแลความปลอดภัยทางถนนของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดตั้งด่านชุมชน “1 ชุมชน 1 หมู่บ้าน 1 ด่านตรวจ” โดยสนธิกำลังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านชุมชน เพื่อตักเตือนและกำหนดวิธีการในการควบคุมดูแลคนในชุมชนมิให้ขับขี่ยานพาหนะในลักษณะที่เสี่ยงอันตรายต่อตนเอง และผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้การเดินทางและเล่นน้ำสงกรานต์เป็นไปด้วยความปลอดภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กว่าร้อยละ 55.21 เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการเมาแล้วขับและขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้อุบัติเหตุรุนแรงมากขึ้น ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดประสานด่านตรวจกวดขันการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงและลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดชุดสายตรวจเคลื่อนที่ดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำของประชาชนและควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ ช่วงเวลา และกลุ่มเยาวชนให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ท้ายนี้ ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อในพื้นที่ ทั้งวิทยุกระจายเสียง หอกระจายข่าวหมู่บ้าน ให้ประชาชนเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมขับรถ ตรวจสอบรถให้พร้อมใช้งาน วางแผนการเดินทางล่วงหน้าและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เร็ว เมา โทร ง่วง…ไม่ขับ มีสติ ไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและมีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง หากมีอาการง่วงนอนให้หยุดพักตามสถานีบริการน้ำมัน หรือจุดบริการของภาครัฐบนเส้นทางสายต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.