ศาลปกครองสั่งบังคับคดีให้ผู้ว่าฯ กทม.-ผอ.เขตปทุมวัน รื้อถอน รร.เอดิทัส ซ.ร่วมฤดี ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดโดยเร็ว ชี้ 1 ปี 8 เดือนยังปฏิบัติไม่ครบถ้วน เตือนหากล่าช้าอีกเจอปรับ พร้อมรายงานนายกฯ ลงโทษทางวินัย ด้านทนายเล็งยื่นฟ้องคดีอาญาหากประวิงเวลารื้อ ขีดเส้นตายใช้เวลาไม่เกินปี
วันนี้ (30 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามมาตรา 42 และ 43 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่กำหนดว่าให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากเจ้าของอาคารไม่ดำเนินการฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นร้องต่อศาลให้จับกุมเจ้าของอาคาร และดำเนินการรื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยเจ้าของอาคารต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด การดำเนินการกับอาคารโรงแรมดิเอทัส และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ดิเอทัส เรสซิเด้นซ์ ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในซอยร่วมฤดี เขตปทุมวัน โดยเร็วนับแต่วันที่ทราบคำสั่งศาล
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย พร้อมชาวบ้านในซอยร่วมฤดีรวม 24 ราย ยื่นฟ้อง ผอ.เขตปทุมวัน ผู้ว่าฯ กทม. กรณีปล่อยให้สองบริษัทก่อสร้างอาคารโรงแรมและที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษความสูงเกิน 23 เมตร โดยไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่กำหนดว่าการก่อสร้างอาคารขนาดความสูงดังกล่าวจะทำไม่ได้ในพื้นที่ที่มีเขตถนนซอยกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2557 ให้ ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการแก้ไขแต่ตลอด 1 ปี 8 เดือน กลับไม่มีการดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา นพ.สงครามกับพวกจึงได้มายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับคดี
โดยคำสั่งบังคับคดีดังกล่าวศาลระบุว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ผอ.เขตปทุมวันจะมีคำสั่งตามมาตรา 40 และมาตรา 41 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ให้ระงับการก่อสร้าง และห้ามใช้อาคารดังกล่าว ซึ่งถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯแล้วแต่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน และปฏิบัติล่าช้า โดยอ้างว่าเนื่องจากบริษัทเจ้าของอาคารอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารจึงต้องรอผลการอุทธรณ์ก่อน ศาลเห็นว่า แม้เป็นความจริงว่าบริษัทเจ้าของอาคารมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย แต่ต้องเป็นกรณีที่คำสั่งนั้นริเริ่มโดย ผอ.ปทุมวัน หรือผู้ว่าฯ กทม.เองไม่ใช่เป็นคำสั่งที่ ผอ.เขตปทุมวัน หรือผู้ว่าฯ กทม.จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่มีผลผูกพันให้คู่กรณีในคดีต้องปฏิบัติตาม แต่การปฏิบัติของ ผอ.ปทุมวันและผูู้ว่าฯ กทม. ก็ยังไม่ถือว่าจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล หรือประวิงให้การบังคับตามคำพิพากษาล่าช้า จึงยังไม่สมควรที่ศาลจะสั่งปรับหรือแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาหรือนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการลงโทษทางวินัย
ส่วนที่บริษัทเจ้าของอาคาร ได้ยื่นฟ้อง ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม.ว่าไม่ดำเนินการเรียกคืนและรักษาเขตทางสาธารณประโยชน์จากผู้รุกล้ำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณาดังนั้นผลการพิจารณาดคีดอาจมีการเปลี่ยนแปลงและเป็นเหตุให้ต้องยุติการบังคับคดี ศาลก็เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นการคาดเดาเหตุการณ์ในข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติของบริษัทเจ้าของอาคารเท่านั้น ไม่อาจโต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ถือเป็นที่สุดแล้วและได้ข้อยุติว่าความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ดังนั้น คำขอทุเลาของบริษัทเจ้าของอาคารที่จะให้ระงับการบังคับคดีไว้ก่อนจึงไม่อาจฟังได้
นอกจากนี้ คำสั่งของศาลยังระบุด้วยว่าให้สำนักบังคับคดีปกครอง สำนักงานศาลปกครองใช้อำนาจดำเนินการบังคับคดีนี้ให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครองอย่างเคร่งครัด รายงานผลให้ศาลทราบทุกระยะจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามบังคับของศาลปกครอง หาก ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม.ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวของศาลให้ครบถ้วน หรือล่าช้าเกินสมควร ศาลอาจสั่งไต่สวนเพื่อมีคำสั่งปรับครั้งละ 50,000 บาท ตามมาตรา 75/4 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดี 2542 และรายงานผู้บังคับบัญชาหรือนายกฯให้ลงโทษทางวินัย
ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า ก็จะรอดูการปฎิบัติตามคำสั่งศาลฯ ของ ผอ.เขตปทุมวัน และผู้ว่าฯ กทม. เข้าใจว่าการรื้อถอนอาคารขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา แต่คงไม่ต้องถึงกลับใช้เวลาเป็นปี เพราะถ้าช้าขนาดนั้นผู้ร้องก็คงทนไม่ไหวเหมือนกัน คงต้องร้องศาลปกครองไต่สวน และฟ้องเป็นคดีอาญาฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม การรื้ออาคารดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องรื้อถอนในส่วนที่สูงเกินกว่า 23 เมตรจากพื้นดิน หรือ 8 ชั้น และเหลือพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร จากตัวอาคาร รร.เอดิทัสที่สูง 24 ชั้น และอาคารเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ดิเอทัส เรสซิเด้นซ์สูง 18 ชั้น
ทาง”นางมรกต สนิทธางกูร” ผอ.เขตปทุมวัน กล่าวเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของคำสั่งศาล ต้องรอจนท.คัดคำสั่งศาลมาพิจารณาก่อน |