วิธีขับรถลุยน้ำท่วมให้ปลอดภัย เครื่องไม่ดับ!

0
1221

ช่วงนี้การจราจรค่อนข้างติดขัด เนื่องจากการเปิดเทอมของนักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้รถยิ่งติดคูณ 2 เข้าไปกันใหญ่ ซึ่งทุกๆ ปี จะเกิดเหตุการณ์ขังตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีอุโมงค์ยักษ์แล้ว น้ำก็ยังท่วมรอการระบายอยู่เหมือนเดิม

ลุย2

     การขับรถฝ่าน้ำท่วมจึง ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเครื่องยนต์กลไก และระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของรถยนต์ ไม่ถูกกับน้ำอย่างยิ่ง หากไม่อยากเสียเงินเพื่อซ่อมรถ หรือร้ายแรงสุดๆ คือยกเครื่องใหม่ ถ้าเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วมได้ หรือมีเส้นทางอื่นที่ไปถึงได้เหมือนกัน ก็ควรเลี่ยง อย่าฝืน หรืออย่าเสี่ยงจะดีกว่า

     แต่ถ้าจำเป็นต้องไปทางนั้นจริงๆ หรือไม่มีทางให้เลี่ยง มาดูวิธีขับฝ่าน้ำท่วมยังไงให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยงรถพังกันดีกว่า

aHR0cDovL3AzLmlzYW5vb2suY29tL2F1LzAvdWQvMTEvNTg5NjkvMDIuanBn

   1. ปิดระบบทำความเย็น หรือแอร์ทันที เพราะในขณะที่เรากำลังขับฝ่าน้ำท่วม หากเปิดแอร์ไว้ พัดลมจะทำงาน ทำให้ใบพัดหมุนตีจนน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง ซึ่งอาจทำให้น้ำเข้าห้องเครื่อง หรือเข้าระบบไฟได้ นอกจากนี้ใบพัดอาจพัดไปโดนเศษขยะต่างๆ เช่น กิ่งไม้ ขวดแก้ว ฯลฯ จนทำให้เกิดความเสียหาย ใบพัดแตก หรือหักได้อีกด้วย

   2. ใช้เกียร์ต่ำขณะขับฝ่าน้ำท่วม โดยใช้แค่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น สำหรับเกียร์ธรรมดา ส่วนเกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L หรือ 1 (เกียร์ต่ำสุดของรถแต่ละรุ่น) นอกจากนี้ควรรักษารอบเครื่องเอาไว้ประมาณ 1,500 – 2,000 รอบ เพราะหากรอบต่ำเกินไป เครื่องอาจดับได้ และหากรอบเครื่องสูงเกินไปอาจดูดน้ำเข้าห้องเครื่องได้ ให้รักษาความเร็วเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ

   3. อย่าเร่งรอบเครื่องสูงๆ หลายคนมักเข้าใจผิด เร่งเครื่องเร่งรอบระหว่างขับผ่านน้ำท่วม เพราะกลัวน้ำจะเข้าท่อไอเสีย กลัวเครื่องจะดับ แต่จริงๆ แล้วมันกลับให้ผลร้ายมากกว่าที่คิด เนื่องจากการเร่งรอบสูงๆ ทำให้มีอุณหภูมิห้องเครื่องสูงขึ้น และเมื่อความร้อนสูงขึ้น พัดลมระบายความร้อนก็จะทำงาน ทำให้ใบพัดหมุน ผลเสียที่ตามมาก็จะเหมือนกับในข้อแรก และไม่ต้องไปกังวลเรื่องน้ำเข้าท่อ ถึงแม้น้ำจะท่วมท่อไอเสียก็ตาม เพราะรอบเดินเบามีแรงดันมากพอที่จะดันน้ำออกมาจากท่อได้นั่นเอง

   4. ลดความเร็วลงเมื่อขับรถสวนกัน เพราะรถที่สวนเลนมาจะมีระดับคลื่นที่ดันผ่านมากับคลื่นที่เราดันไป ทำให้เกิดแรงปะทะระหว่างทั้ง 2 คลื่น และคลื่นน้ำที่ชนกันจะก่อให้เกิดแรงกระทบ พร้อมกับระดับน้ำที่สูงขึ้น ซึ่งมันสามารถเข้าไปสร้างความเสียหายภายใน หรือท่วมห้องเครื่องได้

   5. เว้นระยะให้ห่างจากคันหน้ามากกว่าปกติ เพราะอย่าลืมว่า ระบบเบรกทั้งหมดจมอยู่ในน้ำ ประสิทธิภาพในการทำงานจึงลดต่ำลงมาก หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น จะได้มีระยะเบรกที่ปลอดภัย และหากขับรถพ้นช่วงน้ำท่วมแล้ว ให้ทำการย้ำเบรกบ่อยๆ หรือเหยียบเบรกเป็นช่วงๆ ถี่ๆ เพื่อไล่น้ำออกจากระบบ และผ้าเบรกจะได้แห้งไวขึ้น สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ให้ย้ำคลัตช์เพิ่มเข้าไปด้วยอีกหนึ่งอย่าง เพราะอาจมีปัญหาคลัตช์ลื่นได้หลังจากผ่านการลุยน้ำท่วม

     หลังจากที่ขับฝ่าน้ำท่วมมาได้แล้ว หรือถึงจุดหมายปลายทางแล้ว อย่าเพิ่งรีบดับเครื่องยนต์ ให้วอร์มเครื่องไปอีกสักพัก เพราะอาจมีน้ำตกค้างอยู่ในหม้อพักท่อ และถ้าเห็นว่ามีไอ หรือควันออกมาจากท่อไอเสีย อย่าได้ตกใจไป เพราะมันคือน้ำที่ระเหยออกมานั่นเอง ซึ่งหากคุณไม่ทำแบบนี้ อาจทำให้ท่อทั้งเส้นผุกร่อนเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้คุณควรที่จะนำรถไปล้าง เน้นฉีดน้ำแรงๆ เข้าไปบริเวณใต้ท้องรถ และซุ้มล้อ เพราะมันอาจมีเศษทราย เศษขยะ ฯลฯ ติดอยู่ภายในนั้น

     สุดท้ายนี้ หากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ รถดับกลางน้ำท่วม ให้พยายามย้ายรถไปอยู่ในที่ที่น้ำไม่ท่วม และอย่าสตาร์ทเครื่องยนต์เด็ดขาด เพราะน้ำที่ค้างอยู่จะยิ่งเข้าระบบ อาจทำให้เครื่องมีปัญหามากกว่าเดิม ให้รอช่างมาตรวจดูอาการก่อนจะดีกว่า และสำหรับใครที่รู้ตัวว่ารถต้องโดนน้ำท่วมแน่ๆ (จอดที่บ้าน จอดที่คอนโด ฯลฯ) ให้ถอดขั้วแบตเตอรี่ + หรือ – ออกหนึ่งขั้ว หรือจะถอดออกทั้ง 2 ขั้วเลยก็ได้ ระบบไฟฟ้าจะได้ไม่ทำงาน ถือว่าผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ในระดับหนึ่ง

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.