รมว.เกษตร เปิดตัวศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร ทั่วประเทศ 882 ศูนย์

0
923

27 พ.ค.59 ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ปี 59” พร้อมกับคิกออฟเปิดตัวศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร ทั่วประเทศ 882 ศูนย์ อย่างเป็นทางการ ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจให้ปีนี้ การทำเกษตรทั่วประเทศได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำเกษตรที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนอย่างไร การปลูกพืชชนิดใดที่ตลาดต้องการ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้ได้ เพื่อมีรายได้ดำรงชีพอย่างยั่งยืน และทราบหรือไม่ว่าพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ร้อยละ 3 ไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรที่มีอยู่ มีพื้นที่ 13 อำเภอ เป็นดินเปรี้ยว และเปรี้ยวจัดอยู่แถวๆ ทางใต้ของ อ.บางปะอิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

“เกษตรกรต้องหันมาดูทำความเข้าใจการเปลี่ยนไปของโลก ที่บริโภคสินค้าปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การใช้ปุ๋ยยามากๆ ปลูกข้าวหลายๆ รอบ ไม่ถูกต้อง ผมจะมีนโยบายให้หาพื้นที่เป็นศูนย์รวม ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานลงมาประจำศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ ทุกชุมชน เตรียมความพร้อมให้เกษตรกร เข้าแหล่งเงินทุน เข้าถึงปัจจัยการผลิต ได้รับความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จะลดต้นทุนทำนาให้ได้ ตั้งเป้าให้เหลือ 2.7 พันบาทต่อไร่ ทั่วประเทศ จากต้นทุน 5.2 พันบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยหารือกับกระทรวงมหาดไทย ลดค่าเช่านาด้วย จากที่ต้องเสีย 1 – 2 พันบาทต่อไร่ต่อปี” รมว.เกษตรฯ กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ในฤดูกาลนี้ได้ลงนามกับสมาคม ปุ๋ย ยา เมล็ดพันธ์ 7 สมาคม ร่วมมือลดราคาปัจจัยการผลิต 7% เช่น ปุ๋ย ลดตันละ 400 บาท ในร้านคิวช็อป 2 หมื่นแห่ง และสหกรณ์ทั่วประเทศ ส่วนการทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารนี้ (31 พ.ค.) ให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มมากู้เงิน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.1% โดยรัฐชดเชยให้ในปัจจุบันมี 500 แปลงใหญ่

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนมีจำกัด ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงฤดูแล้งหน้า ควบคุมการระบายน้ำเขื่อน ซึ่งเกษตรกรใช้น้ำฝนพื้นที่ใดฝนไม่เพียงพอยังไม่ปลูก ฝนช่วงแรกน้อย ฝนจะมากเดือน มิ.ย.

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคกลางมีน้อยมาก ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีน้ำทำนา ช่วงนี้ขอให้เกษตรกรเตรียมแปลงไว้ก่อน อย่าเพิ่งลงมือปลูก จะเสี่ยงเสียหายได้ ให้รอต้นเดือน มิ.ย.จะมีฝนปริมาณมากมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำใช้การได้เพียง 1,420 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 1 พันล้าน ลบ.ม.ซึ่งจะไม่น้ำในการเกษตร แต่ยืนยันว่า น้ำกินน้ำใช้มีพอถึงเดือน ก.ค.ไม่ถึงขนาดหมดเกลี้ยงอ่าง โดยยังคงอัตราการระบาย 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่มีแหล่งน้ำของตนเองก็ปลูกได้ โดยจากการสำรวจในภาคกลางปลูกข้าวไปแล้วกว่าแสนไร่

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำช่วงฤดูฝนปีนี้ ตั้งเป้าที่จะกักเก็บให้ได้มากที่สุดจากช่วงนี้จนถึงวันที่ 1 พ.ย.สำหรับเขื่อนสิริกิติ์ 6 พันล้าน ลบ.ม. , เขื่อนภูมิพล 6 พันล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 2 พันล้าน ลบ.ม.ก็จะมีน้ำสำหรับทุกกิจกรรมถึงฤดูแล้งปี 60

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.