บรรเทาสาธารณภัย เตือนอันตรายปล่อยเด็กไว้ในรถ

0
1047

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอันตรายจากปล่อยเด็กไว้ในรถและนำเด็กโดยสารรถตามลำพัง เพราะความซุกซน และความรู้เท่าไม่การณ์ของเด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงพร้อมแนะหากนำเด็กโดยสารรถ ควรให้เด็กนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ล็อกประตูก่อนออกรถ รวมทั้งไม่ปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นาน เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เด็กอยู่ในวัยซุกซน การปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง หรือนำเด็กโดยสารรถโดยไม่มีผู้ดูแล มีความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือนอันตรายจากการปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง ดังนี้

1.อันตรายจากการปล่อยเด็กไว้ในรถตามลำพัง
– การเสียชีวิตจากความร้อนภายในรถ การให้เด็กอยู่ในรถที่ไม่ได้สตาร์ทเครื่องยนต์เป็นเวลาเพียง 5 นาที อุณหภูมิภายในรถที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ร่างกายเด็กขับเหงื่อออกมาจนเมื่อถึงจุดที่ร่างกายทนไม่ได้ เลือดจะกลายเป็นกรดและอวัยวะต่างๆ หยุดทำงาน ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตได้

– การสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย การให้เด็กอยู่ในรถที่สตาร์ทเครื่องยนต์เป็นเวลานาน เด็กจะสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากท่อไอเสียที่พัดลมเครื่องปรับอากาศดูดเข้ามาในห้องโดยสารรถ ทำให้ขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้

– อุบัติเหตุจากรถเคลื่อนตัว การให้เด็กอยู่ในรถระบบเกียร์อัตโนมัติที่สตาร์ทเครื่องยนต์ หากเด็กเลื่อนคันเกียร์หรือเหยียบคันเร่ง จะทำให้รถเคลื่อนตัวโดยปราศจากการควบคุม ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้

– ภัยอื่นๆ อาทิ ถูกประตูหรือกระจกหนีบนิ้ว ติดอยู่ในรถ เนื่องจากกดปุ่มล็อกประตู ใช้นิ้วหรือวัสดุไวไฟแหย่ที่จุดบุหรี่ ทำให้ถูกไฟลวก ยื่นแขนขาออกไปนอกรถ ทำให้ถูกรถเฉี่ยวชน

2. อันตรายจากการนำเด็กโดยสารรถ ดังนี้
– การนำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่นั่งหน้ารถ เด็กอาจแย่งพวงมาลัยหรือซุกซน ทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิในการขับรถ โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุ เด็กจะได้รับอันตรายจากแรงกระแทกเพิ่มเป็น 2 เท่า

– การไม่ให้เด็กใช้ที่นั่งนิรภัยขณะโดยสารรถ เมื่อประสบอุบัติเหตุจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ทำให้ร่างกายเด็กพุ่งกระแทกกับอุปกรณ์อื่นๆ ภายในรถและกระเด็นออกนอกรถ ส่งผลให้เด็กได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้

– การให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ เข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบมาสำหรับผู้ใหญ่ จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีสรีระและรูปร่างเล็ก เมื่อประสบอุบัติเหตุ นอกจากเข็มขัดนิรภัยจะไม่ช่วยปกป้องอันตรายแล้วเด็กยังได้รับบาดเจ็บจากแรงรัดและการบาดของเข็มขัดนิรภัยได้

– การไม่ล็อกประตูรถและปิดประตูรถไม่สนิท ก่อนออกรถควรตรวจสอบประตูรถให้ปิดสนิทและล็อกประตูรถทุกครั้ง รวมถึงไม่ควรให้เด็กนั่งข้างประตู เพื่อป้องกันเด็กเปิดประตูขณะรถวิ่ง ทำให้พลัดตกจากรถ ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่นำเด็กโดยสารรถ ก่อนออกรถควรตรวจสอบเด็กให้นั่งบนรถให้เรียบร้อย กดล็อคประตูและกระจกอัตโนมัติ พร้อมจัดให้เด็กนั่งที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับขนาด รูปร่างและน้ำหนักตัวเด็กบริเวณเบาะหลังรถค่อนไปด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ควรให้เด็กนั่งเบาะหน้ารถ รวมถึงจัดให้มีผู้ดูแลเด็กนั่งรถไปด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเด็ก

728x90

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.